‘แอมเนสตี้’ จี้เมียนมาหยุดละเมิดโรฮิงญาตามคำสั่งศาลโลกทันที

‘แอมเนสตี้’ จี้เมียนมาหยุดละเมิดโรฮิงญาตามคำสั่งศาลโลกทันที

“แอมเนสตี้” เรียกร้องรัฐบาลเมียนมาดำเนินมาตรการชั่วคราวเพื่อยุติการละเมิดชาวโรฮิงญาโดยทันที หลังศาลโลกสั่งให้เมียนมาคุ้มครองชนกลุ่มน้อยมุสลิมในรัฐยะไข่ เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.)

องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงในวันนี้ (24 ม.ค.) หลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) สั่งให้เมียนมาใช้ “มาตรการชั่วคราว” เพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชุมชนชาวโรฮิงญาว่า เมียนมาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และดำเนินการโดยทันทีเพื่อยุติการละเมิดอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับชุมชนเหล่านี้ และป้องกันการทำลายหลักฐานในกรณีดังกล่าว

นายนิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาว่า โลกไม่อดทนยอมให้มีการกระทำที่ทารุณ และจะไม่งมงายยอมรับการใช้วาทศิลป์ที่ว่างเปล่าเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ในปัจจุบัน

ชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 6 แสนคนซึ่งยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ ยังคงถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานสุดของตนเองอย่างสม่ำเสมอและอย่างเป็นระบบ มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าพวกเขาต้องถูกกระทำทารุณเพิ่มอีก

"เมียนมาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และดำเนินการโดยทันทีเพื่อยุติการละเมิดอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับชุมชนเหล่านี้ และป้องกันการทำลายหลักฐานในกรณีนี้ด้วย" นายเบเคลังระบุ

สำหรับคำวินิจฉัยของศาลมีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากทางการเมียนมาเผยแพร่รายงานสรุปข้อค้นพบของคณะกรรมการสอบสวนอิสระซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลเมียนมา โดยแอมเนสตี้กล่าวหาว่า คณะกรรมการชุดนี้ทั้งลำเอียงและไม่เป็นอิสระ จึงไม่อาจถือเป็นการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือเพื่อสอบสวนอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา ในเวลาเดียวกัน ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อสอบสวนการละเมิดอย่างร้ายแรงและเกิดขึ้นกว้างขวางกับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ หรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นของประเทศ

“จนกว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดที่ร้ายแรง รวมทั้งผู้สั่งการจะถูกนำตัวมาลงโทษ อาชญากรรมที่ทารุณเช่นนี้จะยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อไป คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องเสนอสถานการณ์ในเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศโดยเร่งด่วน” นายเบเคลังเสริม

การพิจารณาคดีครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากแกมเบียได้ร้องต่อไอซีเจ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2562 โดยกล่าวหาว่าเมียนมาละเมิดพันธกรณีที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 ทั้งยังมีคำขอฉุกเฉินให้ศาลสั่งให้มี “มาตรการชั่วคราว” เพื่อป้องกันการกระทำที่ถือว่าเป็น หรือสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และให้ปกป้องชุมชนของพวกเขาจากอันตรายที่จะเกิดเพิ่มขึ้น ระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล

ในการไต่สวนคดีต่อสาธารณะเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวที่กรุงเฮกในระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค. 2562 ซึ่งออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำโดยพฤตินัย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนจากเมียนมา และได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมกระตุ้นให้ศาลยกคำร้องของคดีนี้ และไม่ยอมตามคำขอให้มีมาตรการชั่วคราว

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. คณะกรรมการสอบสวนอิสระที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเมียนมา ได้ส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อประธานาธิบดีเมียนมา โดยสรุปว่า แม้กองกำลังของเมียนมาอาจต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม และ “การใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วน” แต่คณะกรรมการไม่พบหลักฐานว่ามีเจตนาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเผยแพร่รายงานฉบับเต็ม