ฝ่ายค้าน หนุน ปชป. ดันแก้ 256 เปิดทางรื้อ รธน. มาตราก่อน

ฝ่ายค้าน หนุน ปชป. ดันแก้ 256 เปิดทางรื้อ รธน. มาตราก่อน

ฝ่ายค้าน หนุน ปชป. ดันแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 256 เปิดทางรื้อรัฐธรรมนูญมาตราก่อน 'อุดม' แจง รธน.แก้ยาก เพื่อป้องกันเสียงข้างมาก

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 63 การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณากรอบการทำงานและกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ภายหลังกรรมาธิการวิสามัญฯ หลายคนได้แสดงความคิดเห็นว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความล่าช้า

157985280692

นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย อภิปรายท้วงติงว่าถึงเวลาแล้วที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องมีการกำหนดแนวทางการทำงานที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีแต่การแสดงความคิดเห็นกันไปมาระหว่างคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เท่านั้น เช่นเดียวกับ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ กรรมาธิการวิสามัญฯ จากพรรคเพื่อไทย เสนอว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯต้องเพิ่มวันประชุมจากเดิมที่มีเพียงหนึ่งวันต่อสัปดาห์

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กรอบการทำงานได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการแล้ว ส่วนเรื่องการเพิ่มวันประชุมส่วนตัวไม่ได้ขัดข้อง

ต่อมาเป็นการเสนอรายงานความคืบหน้าในการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการ โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ได้กล่าวรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการได้มีความคิดเห็นแล้วว่าจะนำประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 มาพิจารณาเป็นประเด็นแรก และจะเร่งส่งผลการศึกษาให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญในการประชุมครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นสำหรับภาพรวมของข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รวบรวมจากการแสดงความคิดเห็นของ ส.ส.ในที่ประชุมสภาฯ และคณะกรรมาธิการวิสามัญสรุปได้ว่ามีทั้งสิ้น 32 ประเด็น และ 11 มาตรา

จากนั้น นายพีระพันธุ์ เปิดโอกาสให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรตั้งสองประเด็น 1.ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายถึงโอกาสจะได้รับความร่วมมือและการต่อต้าน 2.ระยะเวลา ถ้าแก้ไขได้เร็วมากที่สุดเท่าไหรก็เป้นประโยชน์มากเท่านั้น เพราะหลายเรื่องคงรอสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ได้แล้ว

นายบัญญัติ กล่าวว่า แนวทางการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรควรตั้งเป็นประเด็นจำนวน 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.สิทธิประโยชน์ในรัฐธรรมนูญที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเมื่อนำรัฐธรรมนูญ 2560 เทียบกับปี 2540 หรือ 2550 เห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้อยกว่ามาก ดังนั้น ควรมาดูในประเด็นไหนที่ปัจจุบันด้อยกว่าก็ให้กลับไปใช้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในอดีตแทน 2.การเมืองการปกครอง อย่างระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งหลายคนอึดอัดเป็นอย่างมากและปัญหาที่เกิดมาจากการบังคับใช้มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การคำนวนจำนวนส.ส.พึงมี เป็นต้น และ 3.มาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมานั้นครั้งนี้แก้ยากที่สุดเหมือนไม่อยากให้มีการแก้ไข

"ถ้าเรามองลงลึกไปในมาตรา 256 แทนที่ฝ่ายเสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายกำหนดตามแนวทางประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่าฝ่ายข้างน้อยเป็นฝ่ายกำหนด อย่างนี้เราจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร ดังนั้น เรื่องมาตรา 256 เพียงแต่นำเอารัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาแล้วกลับมาใช้หลักการเดิม คือ เสียงข้างมาก สองในสาม หรือ สามในห้าของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน และถ้าเราเอากรอบทั้งสามนี้เป็นตัวตั้ง ผมมั่นใจว่าคณะกรรมาธิการจะใช้เวลาการทำงานไม่ถึง 120 วัน ถ้าสังคมคิดว่าเราทำงานซื้อเวลากันไปวันๆ ความขัดแย้งน่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงควรเร่งดำเนินการและไม่ควรละเลย" นายบัญญัติ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลัง นายบัญญัติ ได้แสดงความคิดเห็นได้มีกรรมาธิการวิสามัญในซีกฝ่ายค้านอภิปรายสนับสนุน เช่น นายชัยเกษม นิติสิริ กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ระบุว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 255 และ 256 เพราะถ้าแก้ไขตรงนี้ไม่สำเร็จก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ส่วนเรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องระยะยาว

นายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การรณรงค์เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้เป็นบรรยากาศของการเลือกข้างและระบบไอโอ (การปฏิบัติเชิงข่าวสาร) ที่ซับซ้อนมาก ไม่เหมือนกับบรรยากาศตอนเรียกร้องให้มีการทำรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่ต้องใช้เสียงข้างมากและเสียงของส.ว.มารวมกัน และทำประชามติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกขั้นตอนมีหลุมพรางเต็มไปหมด ดังนั้น เชื่อว่าการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการสืบทอดอำนาจแล้ว คนที่ครองอำนาจอยู่ปัจจุบันย่อมไม่ยอมให้แก้หรือถ้าให้แก้ไขก็จะได้แก้ไขเพียงเล็กน้อย ขณะที่ อีกฝ่ายมีความต้องการให้แก้เล็กน้อย อีกฝ่ายก็อยากแก้ไขใหญ่ แต่รัฐธรรมนูญก็ปิดโอกาสในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนผ่านจากรัฐประหารมาเป็นประชาธิปไตยอย่างลาตินอเมริกาใต้ ตอนแรกก็มีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย แต่สุดท้ายก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้ด้วยการเจรจาโดยทหารตัดสินใจออกจากอำนาจ หรือพม่าที่ถูกดดันจากต่างชาติ สุดท้ายก็ยอมลงจากอำนาจและสามารถพัฒนาได้

นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้กลับไปใช้ระบบเสียงข้างมากปกติ หรือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ทั้งสองวิธีการนี้ส่วนเชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่มีทางยอม เวลานี้องค์ความรู้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมากแล้ว จึงคิดว่าเรื่องการศึกษาองค์ความรู้ใช้เวลาไม่นาน เหลือเพียงแต่เจตจำนงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรีตัดสินใจเมื่อไหร่ทุกอย่างก็พร้อมหมด

"เรามีเวลา 120 วัน หากจบ 120 วันแล้วไม่ได้อะไรเลยย่อมถูกสังคมตำหนิแน่นอน อย่างน้อยที่สุดคณะกรรมาธิการต้องมีความเห็นกระบวนการแก้ไขควรมีวิธีอย่างไร" นายปิยบุตร กล่าว


ด้าน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญไม่ได้มีหน้าที่ไปศึกษารัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา แต่เป็นการศึกษาในภาพรวม และเสนอเป็นกรอบความคิดเห็นต่อที่ประชุมสภาฯ ต่อไป แต่มั่นใจว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จทันกรอบ 120 วันแน่นอน

ขณะที่ นายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการวิสามัญฯ สัดส่วนคณะรัฐมนตรีและอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 256 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อาจจะยังไม่เข้าใจตรงกันเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญ โดยเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มีความขัดแย้งแล้ว และคนที่นั่งมาทำงานตรงนี้ก็ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560

นายอุดม กล่าวว่า สำหรับบทบัญญัติมาตรา 256 ที่มีความซับซ้อนในเรื่องการกำหนดให้มีจำนวนเสียง ส.ว.ในการให้ความเห็นชอบด้วยนั้นคิดว่าถ้าตัดเรื่องที่มาของ ส.ว. 250 คน ความซับซ้อนที่ว่านั้นจะลดน้อยลงไป สำหรับเจตนารมณ์ของมาตรา 256 มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญถ้าจะถูกแก้ไขก็ต้องมาจากการที่เห็นว่าสมควรต้องแก้ไขจริงๆ โดยให้เสียงของทั้งสองสภาเห็นพ้องกัน ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรควรต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และให้ทุกฝ่ายรับยอมรับได้