ทำไม? ‘มี.ค.’ วิกฤติงบ เสี่ยง 'ชัตดาวน์'

ทำไม? ‘มี.ค.’ วิกฤติงบ เสี่ยง 'ชัตดาวน์'

นายกฯ สั่ง "คลัง-สำนักงบฯ" เร่งหาแผนสำรองรับมือ หากงบปี 63 สะดุด ห่วงกระทบงบลงทุน ทำเศรษฐกิจชะลอ ด้าน "สมคิด" ห่วงช่วงเวลาเบิกจ่ายเหลือแค่ 4 เดือน ยอมรับเป็นเรื่องใหญ่ต้องหาทางแก้ เล็งเสนอ นายกฯ ใช้อำนาจขยายกรอบเป็น 75% ป้องรัฐชัตดาวน์

ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ล่าช้า หลังเกิดกรณี ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรแทนกันโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่า เรื่องนี้หารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยตลอดแต่ก็ต้องดูว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แล้วจะแก้ไขอย่างไร 

ในส่วนของรัฐบาลก็มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าจะถามตนวันนี้ คือจะแก้ไขอย่างไร ตนก็ต้องไปดูและหารือกับกระทรวงการคลัง และคุยกับสำนักงบประมาณ ว่าจะทำอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบขณะนี้มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องหารือกันอีกครั้งว่าเราจะแก้ไขในส่วนของการบริหารราชการอย่างไร

  • นายกฯกังวล ศก.สะดุด

ในส่วนของงบบุคลากร คงไม่มีปัญหามากนัก แต่จะมีปัญหาในเรื่องของงบลงทุน ซึ่งมีจำนวนหลายแสนล้านบาท ถ้าทำไม่ได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของเราไม่ดีขึ้นมากนัก ก็ต้องหามาตรการอื่นเข้ามาเสริมเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าไม่มีเงินลงไป มันก็เดือดร้อนกันทั้งหมด แต่ตนก็เคารพในกติกาในกฎหมายทุกฉบับ เรื่องนี้ก็ขอให้ติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณา

ยอมรับว่าเรื่องนี้หากล่าช้าออกไปงบประมาณฯ ก็มีปัญหา สมมติว่าการใช้จ่ายงบประมาณฯ ล่าช้าไปอีก 3 เดือน แล้วมันจะใช้ทันหรือเปล่าสำหรับเวลาที่เหลือ ก็จะเข้าไปไตรมาสสองอยู่แล้ว ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่า เรื่องดังกล่าวอาจมีทางออกโดยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่สมควร หลังจากที่ได้ปรึกษากันแล้วสำหรับเวลานี้

ส่วนการออกแผนสำรองมารับมือในเรื่องนี้หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการประชุมในเรื่องของงบประมาณฯ ว่าจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป ถ้าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับนายวิษณุ เครืองาม รอง

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาซึ่งมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ร่างพ.ร.บ.งบฯ.​เป็นโมฆะนั้น ขณะนี้สามารถใช้งบของปี 62 ไปได้ก่อนเฉพาะส่วนของรายจ่ายประจำ ส่วนงบในโครงการใหม่ ไม่สามารถทำได้

  • ห่วงช่วงเบิกงบเหลือแค่ 4 เดือน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายง่ายงบประมาณประจำปี 2563 อาจล่าช้าออกไปว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะสามารถใช้ได้เมื่อไหร่ โดยต้องดูผลกระทบทางด้านกฎหมายที่จะเกิดขึ้นแต่ปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้ามาแล้วกว่า 4 เดือน จากที่เริ่มต้นเดือนแรกในเดือน ต.ค.2562 จนถึงเดือน ม.ค.2563 

นอกจากนี้กว่าจะออกแบบโครงการและลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ ก็ใช้เวลาอีก 2-3 เดือน หรือประมาณเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งทำให้ระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเหลือเพียง 6 เดือน เท่านั้นเนื่องจากในเดือน ก.ย.นี้ และเมื่อมีเหตุที่อาจทำให้เกิดการล่าช้าไปอีกก็จะเหลือเวลาในการเบิกจ่ายงบประมาณอีก 4 เดือนเท่านั้น โดยเฉพาะในงบลงทุนจะมีความล่าช้ามาก

"อาจจะเหลือเพียง 4 เดือนเท่านั้น ที่สามารถใช้งบประมาณได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศซึ่งไม่น่าเกิดเหตุการณ์ขึ้น
แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหันหน้าช่วยกันแก้ปัญหา เพราะขณะนี้เวียดนาน มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ไทย
มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องดูแลปัญหาภาย ในประเทศให้ดีที่สุด อย่าทะเลาะกัน"

นายสมคิด ตอบคำถามประเด็นการออก พ.ร.ก.เพื่อให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณมาใช้ล่วงหน้าว่า หากเรื่องนี้ถูกส่งไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรออก พรก. และไม่ควรพูดอะไรก่อนล่วงหน้า

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณกำลังรอความชัดเจน กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะสามารถประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาวาระ 2 และ 3 รวมถึงผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยแผนงานเดิมคาดว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค.หรืออย่างช้าต้นเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งล่าช้ากว่าปีงบ ประมาณปกตินานถึง 4 เดือน นับจากเดือน ต.ค.2562 แต่ก็ยังพอรับได้ เพราะยังมีเวลาใช้จ่ายเงินประมาณ 8-9 เดือน จนถึงปีงบประมาณ 2563 ในเดือน ก.ย.นี้

  • เบิกจ่ายได้แค่เดือน มี.ค.นี้

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า สำนักงบประมาณกำลังช่วยรัฐบาลหาทางออกเพื่อให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด หรือทำอย่างไรในช่วงที่งบประมาณใหม่ ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ส่วนราชการยังมีเงินเบิกจ่ายได้ตามปกติ ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ระบุว่ากรณีที่งบประ มาณใหม่ ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาให้นำงบประมาณกึ่งหนึ่ง หรือครึ่งหนึ่ง ของปีก่อนใช้ไปพลางก่อน 

ขณะนี้ งบประมาณปี 2563 ล่าช้าไปแล้ว 4 เดือน โดยมียอดเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท จากวงเงินงบประมาณปี 2563 ทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าเงินงบประมาณที่ยังเหลือใช้ได้โดยไม่เกินครึ่งหนึ่งนั้น ยังมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ จะเบิกจ่ายได้ถึงเดือน มี.ค.2563 เท่านั้น

"ตอนนี้ กำลังตรวจสอบผลการเบิกจ่ายงบประจำของหน่วยงานทั้งหมดว่า มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
และหากงบประมาณยังไม่มีผลบังคับใช้ จะเบิกใช้ได้อีกเท่าไหร่
ซึ่งคาดว่ายังเหลืออยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท และน่าจะใช้ได้ถึงเดือน มี.ค.เท่านั้น"

ดังนั้น หากยังไม่มีความชัดเจนกรณีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญช่วงนี้ ขอยืนยันว่า เงินเดือน ค่าจ้างและค่าวัสดุและคุรุภัณฑ์ยังเบิกจ่ายต่อไปได้ แต่หากเลยสิ้นเดือน มี.ค.ไปแล้ว จะไม่มีหน่วยงานไหนเบิกเงินได้ เพราะเบิกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณ 

  • ชงเพิ่มเบิกจ่ายไปพลางป้องชัตดาวน์

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะขอให้รัฐบาลขยายวงเงินจากไม่เกินครึ่งหนึ่งโดยอยู่ในอำนาจของนายกฯที่จะขยายวงเงินได้ไม่เกิน 75% เพื่อขยายวงเงินให้เบิกจ่ายต่อได้อีก 2 เดือนหรือจนถึงเดือน พ.ค.นี้ เพื่อป้องกันรัฐบาลชัตดาวน์ ซึ่งสำนักงบประมาณจะเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาและเสนอ ครม.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ สำนักงบประมาณมีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 ประกอบด้วย 1.กำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยในภาพรวมของประเทศเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 2 เบิกจ่ายเงินได้ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำประมาณ 776,740 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุนประมาณ 223,260 ล้านบาท

2.เร่งรัดให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูก พันได้โดยเร็ว โดยงบประมาณรายจ่ายที่ต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้หน่วยรับงบ ประมาณเร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาค สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีที่เป็นราย จ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวน การจัดซื้อจัดจ้าง

3.ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือน ก.ย.2563 โดยเฉพาะรายการปีเดียว สำหรับรายการผูกพันใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.2563 โดยดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง