ร่วมมือทุกฝ่าย แก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ร่วมมือทุกฝ่าย แก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาที่กี่ยุคกี่สมัยก็ยังคงอยู่ยืนยาว หนึ่งในผลพวงการขาดคุณธรรม ที่ส่งผลถึงปัญหาความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ มาวันนี้รายงานค่าดัชนีรับรู้การทุจริตในปี 2019 ชี้ว่าไทยยังย่ำอยู่กับที่ ทำให้เห็นว่าทุกฝ่ายควรที่จะต้องร่วมมือกันแก้ให้ได้แล้ว

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไขมานาน ซึ่งมีการระบุถึงผลกระทบจากการทุจริตคอร์รัปชันที่ส่งผลต่อปัญหาความยากจน การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและสร้างผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งการคอร์รัปชันเชิงนโยบายและการคอร์รัปชันผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

สาเหตุของการคอร์รัปชันเกิดขึ้นจากหลายประเด็นทั้งด้านปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งทำให้การทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้จำกัดเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงราชการและนักการเมือง แต่ปัญหานี้เกิดขึ้นในทุกส่วนของสังคม รวมถึงภาคเอกชนทั้งการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรเอกชน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การเสียผลประโยชน์สาธารณะ แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือพนักงานบริษัท

สิ่งสำคัญที่มักถูกกล่าวอ้างถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คือ การขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหา แต่ถ้าพิจารณารายละเอียดพบว่าภาครัฐจะมีองค์กรที่กำกับดูแลแก้ปัญหาเรื่องนี้หลายองค์กร เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) รวมทั้งมีองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่ติดตามการแก้ปัญหาทุจริตด้วย และยังมีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่มาเร่งกระบวนการของคดีทุจริต

ล่าสุดองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ รายงานผล CPI ค่าดัชนีรับรู้การทุจริตประจำปี ​2019 พบว่า ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 101 จากจำนวนทั้งหมด 180 ประเทศ และได้ค่าเฉลี่ยดัชนีที่ 36 (จากคะแนนเต็ม 100) ซึ่งเท่ากับค่าดัชนีในปี 2018 แต่อันดับถือว่าหล่นลง เนื่องจากในการจัดอันดับปี 2018 ไทยอยู่ในอันดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ โดยการจัดอันดับดังกล่าว ประเทศที่อันดับตัวเลขยิ่งสูงหมายถึงยิ่งมีการคอร์รัปชันมาก

ผลสำรวจของประเทศไทยมีทั้งกรณีการจ่ายเงินสินบนเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก ระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการนำเงินของภาครัฐไปให้กับบริษัท บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อการคอร์รัปชัน โดยสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอาจอยู่ในระดับทรงตัว แต่ประเทศอื่นมีการแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่าไทย ผลการประเมินดังกล่าวจึงชัดเจนว่าการปัญหาคอร์รัปชันของไทยไม่ดีขึ้น ซึ่งกรณีนี้ทำให้เห็นว่าทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญมากขึ้นไม่เฉพาะภาครัฐหรือรัฐบาล แต่รวมถึงทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา