เปิดโปรเจคแสนล้านบาท 'สมคิด' เร่งรัฐ-เอกชนลงทุนปีนี้

เปิดโปรเจคแสนล้านบาท 'สมคิด' เร่งรัฐ-เอกชนลงทุนปีนี้

“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดเร่งรัดการค้า-ลงทุนนัดแรก เผย “คลัง-บีโอไอ” พร้อมชงมาตรการกระตุ้นการลงทุน คาดหนุนเอกชนลงทุนปีนี้ 1 แสนล้านบาท รถไฟสายสีส้มตะวันตก ดันประมูลศูนย์ซ่อมอากาศยานใน 2 เดือน

คณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน เริ่มดำเนินงานทันทีหลังจากจากได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันแผนการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2563

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ว่า ได้เร่งรัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเรื่องที่จำเป็นและมีความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินการในปี 2563 

โดยประการแรกกระทรวงการคลังได้รายงานความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นการลงทุนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่จะให้สิทธิ์ประโยชน์กับภาคเอกชนที่มีการลงทุนในการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตและสินค้าทุนโดยให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 2.5 เท่า

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รายงานว่าในการใช้มาตรการเดิมที่หักค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่าทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนได้ 1 แสนล้านบาท เมื่อมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจูงใจที่มากขึ้นก็คาดว่าจะมีการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น 

สำหรับมาตรการนี้จะออกมาควบคู่กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอเร็วๆนี้ โดยเน้นการลงทุนในประเทศ เช่น การมีแพคเกจส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ลงทุนในชนบท เป็นต้นส่วนการใช้เงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันวเงิน 1 หมื่นล้านบาทให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาร่วมจัดทำเกณฑ์ในการอนุมัติกองทุนให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถอนุมัติให้กับบริษัทเป้าหมายที่เข้ามาลงทุนได้ 

แผนเร่งรัดการเจรจาการค้าและการลงทุน

1.รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) วงเงิน 122,000 ล้านบาท โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เตรียมบรรจุวาระ

2.ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา วงเงิน 10,588 ล้านบาท โดยจะทำทีโออาร์ใหม่ภายใน 1-2 เดือน รวมทั้งผู้ยื่นซองประมูลไม่จำกัดเฉพาะแอร์บัส-การบินไทย

3.การลงทุนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดเล็กปี 2563 วงเงิน 10,000 ล้านบาท

4.โรงไฟฟ้าชุมชน โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 70,000 ล้านบาท โดยปี 2563 รับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์

5.การประมูล 5 G โดยมีกำหนดประมูลในวันที่ 16 ก.พ.2563 รวมทั้งสัปดาห์หน้านายสมคิด จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ เร่งรัดให้เกิดการลงทุนตามแผน

6.เมืองอัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะทำทีโออาร์ภายใน 1-2 เดือน

7.การลงทุนรัฐวิสาหกิจ โดยเตรียมจัด CEO Forum เพื่อระดมความเห็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ หาแนวทางเร่งรัดลงทุนและจัดลำดับโครงการที่จะลงทุน โดยเฉพาะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มีงบลงทุน 2563 วงเงิน 69,310 ล้านบาท

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีงบลงทุนในปี  2563 วงเงิน 39,000 ล้านบาท และปี 2564 มีงบลงทุน 40,000 ล้านบาท

เร่งเคาะร่วม“ซีพีทีพีพี”

นายสมคิด กล่าวว่า ในส่วนของการเจรจาทางการค้าได้กำหนดการเจรจาการค้า 3 กรอบที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญในปีนี้ ได้แก่ การเจรจาการค้าในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดสรุปการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP และจะมีการตั้งกองทุนเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

ขณะเดียวกันจะเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และเอฟทีเอไทย-ฮ่องกง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งรัดในการเจรจาเพื่อสร้างโอกาสในการค้าของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

คลังชงลงทุนหักภาษี2.5เท่า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการทางการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนใหม่ว่า จะเสนอให้นำรายจ่ายลงทุนในเครื่องจักรใหม่ไปหักลดหย่อนภาษีได้จำนวน 2.5 เท่า พร้อมกับ ยกเว้นอากรขาเข้า เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563

เขาประเมินว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการลงทุนใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวมประมาณ 9 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า มาตรการที่จะออกมานี้ มีความคุ้มค่า เพราะจะจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

“เดิมเราให้หักรายจ่ายเพื่อลงทุนได้ 1.5-2 เท่า ซึ่งก็จูงใจให้เกิดการลงทุนได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เมื่อเราให้หักเพิ่มเป็น 2 เท่า ก็เชื่อว่า จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาราว 1 แสนล้านบาท ก็คิดว่า คุ้มค่า”

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยแบงก์รัฐต่างๆได้ตั้งวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้รวมราว 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อที่ให้ในโครงการอีอีซี 2 หมื่นล้านบาท และ โครงการทั่วไป 5 พันล้านบาท ธนาคารออมสินออกสินเชื่อเสริมแกร่งวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีก 2 หมื่นล้านบาท และ ธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท