ไวรัสโคโรน่าทุบหุ้น 'โรงกลั่น' ดิ่ง โกลด์แมนแซคส์' ฟันธงกระทบการบินฉุดราคาน้ำมันรูด

ไวรัสโคโรน่าทุบหุ้น 'โรงกลั่น' ดิ่ง โกลด์แมนแซคส์' ฟันธงกระทบการบินฉุดราคาน้ำมันรูด

โบรกฟันธงหุ้นโรงกลั่น “ขาลง” หลังสารพัดปัจจัยกดดัน ล่าสุด "โกลด์แมน แซคส์" ประเมินการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า ส่อกดดันกลุ่มการบิน ทำอัตราการใช้น้ำมันลดลง ขณะ นักลงทุน แห่ขายหุ้นโรงกลั่น ฉุด "ไทยออยล์" รูดหนักทำ "นิวโลว์" รอบ 4 ปี

สถานการณ์หุ้น “กลุ่มโรงกลั่น” ยังคงเผชิญสารพัดปัจจัยกดดัน ทำให้แนวโน้มหุ้นกลุ่มนี้ในระยะข้างหน้า ยังอยู่ในภาวะ “ขาลง” ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ราคาหุ้นในกลุ่มบางตัวอ่อนตัวลง ขณะที่ล่าสุดวานนี้ (23ม.ค.) พบว่า ราคาหุ้นหลายตัวปรับลดลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ที่ร่วงหนักกว่า 6.03% โดยปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 54.50 บาท หรือลดลง 3.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,091 ล้านบาท และระหว่างวันไหลลงทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 54 บาท ถือเป็นระดับต่ำสุดครั้งใหม่ (นิวโลว์) ในรอบ 4 ปี 3 เดือน 

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) JP Morgan ได้หั่นราคาเป้าหมาย TOP ใหม่ลง 43.75% เหลือระดับ 45 บาท จากราคาเป้าหมายก่อนหน้าที่ 80 บาท ซึ่งทำให้มีแรงเทขายจากพวกกองทุนออกมาจำนวนมาก

นอกจาก TOP แล้ว ยังพบว่าหุ้น บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ลดลงแรง โดยปิดตลาดที่ระดับ 25.75 บาท ลดลง 2.83% บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ปิดตลาดที่ 8.15 บาท ลดลง 1.81% บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ปิดตลาดที่ 3.00 บาท ลดลง 0.66% 

ปัจจัยลบที่กดดันหุ้นกลุ่มโรงกลั่นมีต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราค่าการกลั่น (GRM) ของตลาดโลกยังอยู่ระดับต่ำ ขณะที่ปีนี้มีปัจจัยใหม่เข้ามากดดันเพิ่มเติม คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ทำให้ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงการบินได้รับผลกระทบหนัก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่อ่อนตัวลงน่าจะเกิดจากความวิตกกังวลของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นในกลุ่ม หลังมีบทวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ออกมาระบุว่า มีแนวโน้มที่ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอันเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และอาจเป็นปัจจัยฉุดราคาน้ำมันดิบลงราว 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมประเมินว่าตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินจะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวทำให้การเดินทางทางอากาศในภูมิภาคลดลง

ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังปรับตัวลงแรง หลัง EIA คาดว่าจะเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดจำนวน 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 ซึ่งเป็นลบต่อทิศทางหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี อย่างไรก็ตามมองว่าการย่อตัวของหุ้นโรงกลั่นในครั้งนี้เกิดจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเยอะในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งภาวะตลาดไม่ค่อยดีและมีปัจจัยลบเข้ามากดดันจึงถูกนักลงทุนเทขายออกมาก่อน

ส่วนกรณีราคาหุ้น TOP ที่ปรับตัวลงแรง เชื่อว่าเกิดจากความกังวลต่อทิศทางธุรกิจ หลังคาดว่าการประกาศงบของ TOP ในช่วงไตรมาส 4 ปี2562 อาจออกมาไม่ดีนัก โดยคาดว่ามีกำไรหลักเพียง 200-300 ล้านบาท หลังจากค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามยังคงคำแนะนำถือ เนื่องจากมองว่าตอนนี้ดาวไซด์เริ่มจำกัด

นางนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ผลงานหุ้นกลุ่มโรงกลั่นไม่น่าดีขึ้นจากปีก่อนแน่นอนโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ทั้งนี้ปกติช่วงต้นปีมักเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ แต่ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัวทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง ซึ่งสะท้อนได้จากค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ที่ล่าสุดอยู่ระดับ 0 ดอลลาร์หรือติดลบ ประกอบกับผลของมาตรการ IMO ที่ยังไม่ช่วยให้ความต้องการกลับมาฟื้นตัว

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาด พร้อมแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในช่วง 3 – 4 เดือนนี้หรือจนกว่างบไตรมาส 1/2563 จะทยอยประกาศออกมา หลังจากนั้นคาดว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น และหนุนให้ผลประกอบการของกลุ่มโรงกลั่นปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย