'เศรษฐกิจ-เชื่อมั่น' ฉุดตลาดรถ โตโยต้าคาดปีนี้ติดลบ 6.7%

'เศรษฐกิจ-เชื่อมั่น' ฉุดตลาดรถ โตโยต้าคาดปีนี้ติดลบ 6.7%

โตโยต้า ประเมินตลาดรถยนต์ปีนี้ต่ำล้าน ติดลบ 6.7% เหตุมีปัจจัยลบหลายอย่างทั้งภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเข้มงวดสถาบันการเงิน ยันฐานการผลิตไทยยังสำคัญต่อยุทธศาสตร์ ไม่ย้ายหนี แย้มโครงการลงทุน “อีวี-ปลั๊กอิน ไฮบริด” ผ่านการอนุมัติเรียบร้อย

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2562 และประเมินทิศทางในปี 2563 ซึ่งมีแนวโน้มไม่ดีนัก ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์โดยรวมมียอดขายทั้งสิ้น 1.007 ล้านคน ลดลง 3.3% จากปีก่อนหน้า  แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 3.98 แสนคัน ลดลง 0.3% รถปิกอัพ 1 ตัน 4.31 แสนคัน ลดลง 3.4% และหากนับรวมรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งรวมรถปิกอัพ และปิกอัพดัดแปลง มียอด 6.09 แสนคัน ลดงลง 5.1% 

ดังนั้นตลาดปีนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะยังคงมีปัจจัยลบหลายอย่างที่จะส่งผลกระทบไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ทำให้เกิดความระมัดระวังในการใช้จ่ายภาคประชาชนเพิ่มขึ้น มาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงเข้มงวด สินค้าการเกษตรที่ไม่ดี รวมไปถึงภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงอย่างชัดเจน แม้ว่าล่าสุดทั้ง 2 ประเทศจะบรรลุข้อตกลงแรกไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นภาพบวกเกิดขึ้น ดังนั้นโตโยต้าจึงประเมินว่าตลาดรวมปีนี้จะอยู่ที่ 9.7 แสนคัน ลดลง 6.7% จากปีที่แล้ว

“ปีที่แล้วช่วงครึ่งปีแรกตลาดทำได้ดี ขยายตัวสูง ซึ่งเราก็ดูว่าหากยังมีทิศทางดังกล่าว ตลาดปีนี้ก็น่าจะทำได้หลักล้านเช่นกัน แต่หลังจากนั้นตลาดก็เริ่มถดถอย และเมื่อถึงเดือน ก.ย. เราก็ปรับใหม่ และจากข้อมูลทั้งหมด จึงเชื่อว่ายอดรวมปีนี้จะไม่ถึง 1 ล้านคัน”

ทั้งนี้การคาดการณ์ตลาดปีนี้ 9.4 แสนคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 3.58 แสนคัน ลดลง 10% และรถเพื่อการพาณิชยฺ์ 5.81 แสนคัน ลดลง 4.5% 

**โตโยต้าขายปี 62 เพิ่ม 5.5%

ในส่วนภาพรวม โตโยต้า ปี 2562 มียอดขายรวม 3.32 แสนคัน เพิ่มขึ้น 5.5% ส่วนแบ่งการตลาด 33% ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.8 จุด แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 1.17 แสนคัน เพิ่มขึ้น 4.7% ส่วนแบ่งการตลาด 29.5% เพิ่มขึ้น 1.4 จุด รถปิกอัพ 1 ตัน 1.65 แสนคัน เพิ่มขึ้น 9.6% ส่วนแบ่งการตลาด 38.3% เพิ่มขึ้น 4.5 จุด

การเติบโตของยอดขาย และส่วนแบ่งการตลาดของโตโยต้า ในภาวะที่ตลาดรวมติดลบ มาจากรถรุ่นใหม่ และรุ่นปรับปรุงใหม่ ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นคัมรี่, โคโรลล่า, อัลติส, ยาริส, เอทีฟ, ปิกอัพ ไฮลักซ์ รีโว่ แซด อีดิชั่น, รถตู้คอมมิวเตอร์ และมาเจสตี้ นอกจากนี้ยังเป็นจากด้านการตลาดที่มีทีมงานลงไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับตัวแทนจำหน่าย ทำให้รับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค นำมาซึ่งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม แม้ปีที่ผ่านมา โตโยต้าจะเติบโต แต่ปีนี้การที่ตลาดยังมีทิศทางไม่ดีนัก และมีปัจจัยลบหลายอย่าง โตโยต้าจึงตั้งเป้าจำหน่าย โดยยึดส่วนแบ่งตลาดเป็นหลัก คือ 33% เท่าปีที่ผ่านมา หมายถึงยอดขายรวมโตโยต้าจะอยู่ที่ 3.1 แสนคัน ลดลง 6.7% เท่ากับตลาดรวม แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 1.03 แสนคัน ลดลง 12.5% ส่วนแบ่งการตลาด 28.7% และรถเพื่อการพาณิชย์ 2.07 แสนคัน ลดลง 3.6% ส่วนแบ่งตลาด 35.6%

นายซึงาตะกล่าวว่า ด้านการส่งออกปี 2562 โตโยต้า ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จำนวน 2.64 แสนคัน ลดลง 10% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตลาดเป้าหมายหลายประเทศ มีภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็น โอเชียเนีย  อเมริกากลางและอเมริกาใต้ 

**ยันไทยฐานการผลิตสำคัญ 

นอกจากนี้การที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเช่นกัน ทั้งในด้านของจำนวนคัน และในด้านของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลกำไรลดลง อย่างไรก็ตามเป็นปัญหาที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นแนวทางแก้ไข คือ การพยายามลดต้นทุนการผลิตลง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามความพยายามอย่างเต็มที่ทั้ง 2 ด้านในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่สามารถครอบคลุมสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบได้

“เงินบาทที่แข็งค่า เราได้รับผลกระทบอย่างมาก และไม่ได้ประโยชน์จากค่าเงินแต่อย่างใด เพราะว่าปัจจุบัน การผลิตรถยนต์ในโรงงานประเทศไทย โตโยต้าใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเกือบทั้งหมด จึงไม่ได้เปรียบจากค่าเงินในการนำเข้าชิ้นส่วนแต่อย่างใด”

ทั้งนี้การส่งออกที่ลดลง และตลาดในประเทศที่ลดลง และตลาดในประเทศไทยที่ลดลง ทำให้การผลิตรวมของโตโยต้าในปีที่ผ่านมาทำได้  5.7 แสนคัน ลดลง 3% ส่วนปีนี้คาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 2.63 แสนคัน ลดลง 1% และการผลิตรวมจะอยู่ที่ 5.56 แสนคัน ลดลง 3%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคการผลิตจะติดลบ แต่ไม่มีผลกระทบต่อภาคการผลิตมากนัก โดยโตโยต้าซึ่งมีระบบการผลิต “Toyota Production System” ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตเช่น การปรับ แทคไทม์ (takt time) หรือระยะเวลาที่รถจะออกจากสายการผลิต ใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

นอกจากนี้ยังยืนยันว่าสถานการณ์เหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเป็นฐานการผลิตอย่างแน่นอน เพราะโตโยต้ายังคงให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก และที่ผ่านมาโตโยต้าก็เคยประสบปัญหารุนแรงในไทย เช่น วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งรุนแรงมาก และโตโยต้าต้องใช้พลังอย่างมากในการฝ่าวิกฤติซึ่งนั้่นคือข้อเท็จจริงที่เป็นประวัติศาสตร์ในไทย และก็เชื่อว่าครั้งนี้ก็จะสามารถผ่านไปได้เช่นกัน 

**ผ่านอนุมัติ อีวี-ปลั๊กอิน ไฮบริด

นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ในส่วนของรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ว่า ล่าสุดโตโยต้าได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้วในช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ตามยังมีขั้นตอนของภาครัฐอีกหลายอย่าง เช่น การออกแบบรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 5-7 เดือน จากนั้นจะมีระยะเวลาในการลงทุนภายใน 3 ปีหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของโตโยต้าก็จะมีขั้นตอนเช่นกัน ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี การตลาด และความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิต

ทั้งนี้โตโยต้ายื่นขออนุมัติครบทั้ง 3 รูปแบบ คือ ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี โดยขณะนี้มีการผลิตไฮบริดในโครงการนี้ไปแล้ว คือ ซี-เอชอาร์, คัมรี่ และโคโรลล่า อัลติส

ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรีที่เกตเวย์ ขณะนี้ผลิตรองรับการผลิตรถยนต์ไฮบริด แต่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามความต้องการของตลาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต