ตลาดอาหรับ บุก 'เมดิคัลฮับ' อาเซียน

ตลาดอาหรับ บุก 'เมดิคัลฮับ' อาเซียน

รายงาน Global Wellness Tourism ระบุ ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่า 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกว่า 40% มาจากประเทศแถบอ่าวอาหรับ ยอมทุ่มเงินเพื่อได้รับการบริการดูแลสุขภาพที่ดี

ณัฐภาณุ นพคุณ  รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความตื่นตัวในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศแทบภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศแถบอ่าวอาหรับเพราะในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจมากกว่าครึ่งล้านคนเดินทางมายังประเทศไทย ทั้งยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี

ณัฐภานุ พูดถึงนโยบายการต่างประเทศของไทยระหว่างพบปะกับสื่อมวลชนจากชาติตะวันออกกลาง ที่เดินทางเยือนประเทศไทยว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นขยายความร่วมมือแบบเชิงรุกที่มีต่อประเทศตะวันออกกลางในหลายด้าน ผ่านความร่วมมืออาเซียน และสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia : TAC) โดยเมื่อปีที่แล้ว อาเซียนได้ลงนาม TAC กับประเทศบาห์เรน และไทยต้องการจะขยายความร่วมมือนี้ไปยังประเทศแถบอาหรับอื่นๆ ด้วย

157976689759

สำหรับกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ ประกอบด้วยกาตาร์ บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โอมาน และคูเวต เป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันกลางที่มีศักยภาพทั้งด้านการค้าและการลงทุน รวมไปถึงมีเงินออมและเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศดังกล่าว ยังเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงสุดคือกาตาร์ โดยอยู่ที่ 94,743  ดอลลาร์ต่อปี รองลงมาเป็นคูเวต 44,849 ดอลลาร์ต่อปี ยูเออี 44,770 ดอลลาร์ต่อปี ซาอุดีอาระเบีย 25,400 ดอลลาร์ต่อปี และต่ำสุดคือโอมาน 21,687 ดอลลาร์ต่อปี 

157976684472

"ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศแถบอาหรับขยายตัวเพิ่มขึ้นครอบคลุมหลายด้าน โดยเฉพาะไทยต้องการยกระดับเป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของกลุ่มประเทศเหล่านี้" รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำ 

ณัฐภาณุ ชี้ว่า ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทย อยู่ประมาณ 40 ล้านคน และในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศแถบอ่าวอาหรับประมาณ 500,000 คน โดยเป็นประเทศคูเวต และยูเออีที่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ

ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม  ที่มีนโยบายต้องการผลักดันให้ประเทศตนเองเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หรือเมดิคอลฮับในภูมิภาคอาเซียน 

157976656720

สำหรับไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน ที่มีจุดแข็งที่สำคัญ คือมีบุคลากรและสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ส่วนฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เป็นมิตรที่สุดในโลก และมีการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อเนื่องมากกว่า 15 ปี ขาดแต่เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามารองรับ ขณะที่เวียดนามเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการแพทย์ทางเลือกที่จะเข้ามาเป็นจุดขายใหม่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ในรายงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2561 ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่า 63,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็น 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี 

157976672663

"ประเทศไทย สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เข้ามาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามกว่า 766  ล้านดอลลาร์ และคาดว่าปีนี้ จะเพิ่มสูงขึ้น 13.9% หรือประมาณ 870 ล้านดอลลาร์" รายงงานระบุ

ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการเชิงการแพทย์ในไทยมากที่สุด ได้แก่ จีน รองลงมาเป็น อังกฤษ ยูเออี สิงคโปร์ อินเดีย เยอรมนี ออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐ และการ์ตา

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เดินทางมาไทยจำนวน 66,492 คน ส่วนใหญ่ต้องการรักษาโรคเฉพาะทาง ตรวจสุขภาพ บริการด้านการชะลอวัย และศัลยกรรมความงาม ซึ่งไทยมีชื่อเสียงและมาตรฐานใกล้เคียงโรงพยาบาลในยุโรป ทั้งเรื่องเทคโนโลยี และค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าประเทศอื่นๆ