11 เดือนแรกปี62 ใช้สิทธิเอฟที่เอ-จีเอสพีลดลงตามยอดส่งออก

11 เดือนแรกปี62 ใช้สิทธิเอฟที่เอ-จีเอสพีลดลงตามยอดส่งออก

พาณิชย์ เผย 11 เดือนใช้สิทธิเอฟทีเอ ลดลง 4.14 % มูลค่า 65,642.88 ล้านดอลลาร์ อาเซียนครองอันดับหนึ่งใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด ขณะที่สหรัฐใช้ประโยชน์มากที่สุดแม้สหรัฐประกาศตัดจีเอสพีสินค้าไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์การส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ รวมอยู่ที่ 65,642.88 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 75.98  % ลดลง 4.14 % แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอ  60,790.30 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จีเอสพี 4,852.57 ล้านดอลลาร์

การใช้สิทธิประโยชน์ ภายใต้ความตกลงเอฟทีเอของไทยจำนวน 11 ฉบับ จากเอฟทีเอที่ไทยมีรวมทั้งหมด 13 ฉบับ ไม่คิดรวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 และ ไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก มีมูลค่า 60,790.30 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 77.26  % ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 78,679.96 ล้านเดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกที่ลดลง 2.8%  ซึ่งยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.52 % โดยยังคงมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า 157976171059

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ ในภาพรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาแต่ยังมีบางตลาดที่มีการขยายตัวของอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ได้แก่ เปรู ขยายตัวดีที่ 31.96%  มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม รถจักรยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 250-500 ลบ.ซม. มอนิเตอร์และเครื่องฉาย   จีน ขยายตัวที่ 2.17% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น และ  นิวซีแลนด์ ขยายตัวที่ 1.77 %  มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น เครื่องประดับที่ทำจากเงิน แผ่นและแถบทำด้วยอะลูมิเนียม แผ่นฟิล์มทำด้วยพลาสติก

 นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับตลาดไทยส่งออกภายใต้เอฟทีเอสูงสุด 5 อันดับยังคงเป็น อาเซียน มูลค่า 22,716.49 ล้านดอลลาร์  รองลงมาเป็น จีน มูลค่า 16,566.45 ล้านดอลลาร์  ออสเตรเลีย มูลค่า 7,285.75 ล้านดอลลาร์   ญี่ปุ่น มูลค่า 6,971.05 ล้านดอลลาร์และอินเดีย มูลค่า 3,963.52 ล้านดอลลาร์ ส่วนเอฟทีเอที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี ใช้สทธิ์ 100 %   ไทย-เปรู  93.28 อาเซียน-จีน  90.94 ไทย-ญี่ปุ่น  88.88 % และ อาเซียน-เกาหลี  82.86% ด้านรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง

นายกีรติ  กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบจีเอสพีไทยยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบจีเอสพี จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบจีเอสพี 11 เดือนแรกอยู่ที่ 4,852.57 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 62.87%  ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า  ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ มากที่สุดคือ สหรัฐอ มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 4,413.48 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการใช้สิทธิฯ  67.03%  ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ  ซึ่งมีมูลค่า 6,583.97 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 11 % รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ อยู่ที่ 283.27 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการใช้สิทธิที่ 35.49% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิซึ่งมีมูลค่า 798.10 ล้านดอลลาร์  ในส่วนประเทศรัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 129.30 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการใช้สิทธิที่ 80.77% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ  ซึ่งมีมูลค่า 160.10 ล้านดอลลาร์ และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 25.39 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการใช้สิทธิ 100%  ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับ  สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยางอื่นๆ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้ และเลนส์แว่นตา

“ในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อาทิ สงครามการค้า ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า รวมไปถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยบางรายการซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศต่อเนื่องถึงในปีนี้ โดยกรมอยู่ในระหว่างการเจรจากับสหรัฐเพื่อขอคืนสิทธิจีเอสพีและหารือกับภาคเอกชนในการหามาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น “ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว

  157976176525