งบปี 63 ส่อสะดุด ฉุดเศรษฐกิจ

งบปี 63 ส่อสะดุด ฉุดเศรษฐกิจ

“สมคิด” สั่งคลังเตรียมแผนสำรอง รับมือกรณีงบประมาณปี 63 สะดุด หลังพบ ส.ส.ภูมิใจไทย เสียบบัตรแทนกัน ส่งผลการพิจารณาส่อเป็นโฆษะ ยอมรับเสี่ยงทำเศรษฐกิจสะดุด รัฐไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ

แม้ว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 225 เสียง แต่ดูเหมือนว่า พ.ร.บ.งบประมาณ ดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะเป็น “โฆษะ” หลังมีผู้ตรวจสอบพบว่า นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย(ภท.) และ นายนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภท. ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่มีผู้เสียบบัตรแทนเพื่อร่วมโหวตร่างงบประมาณดังกล่าว ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อตีความทางกฎหมาย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า หากงบประมาณปี2563 เกิดความล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ว่า ไม่อยากให้ทุกคนมองในแง่ร้าย แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็คงกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศโดยรวม เพราะงบประมาณตอนนี้ก็ถือว่าล่าช้าอยู่แล้ว ถ้าเลื่อนออกไปอีกก็จะยิ่งช้ากว่าเดิม ดังนั้นรัฐบาลต้องทำให้ล่าช้าน้อยที่สุด ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ไม่มีเงินมาหมุนเวียนในระบบ

157975891550

ขณะนี้ เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างตึงตัว และ ในอนาคตก็ไม่แน่ใจว่า
งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะเป็นอย่างไร ดังนั้น ธนาคารกรุงไทย
จะต้องเป็นแบงก์หลักให้กับรัฐบาล โดยจะต้องร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ในการขยายปริมาณเงินเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ

“แบบนี้ เราก็ต้องเร่งรัฐวิสาหกิจให้ปรับแผน ให้ลงทุนเยอะขึ้น ทางรัฐมนตรีคลังก็พยายามผลักดันนโยบายจูงใจให้คนมาลงทุนในปีนี้ให้ได้ ส่วนเรื่องอื่นก็พยายามแก้ไขกันอยู่ เราพยายามมองล่วงหน้า ก็หารือกับรัฐมนตรีคลังให้คิดทางออกว่า จะเป็นอย่างไร ก็รอดูเหตุการณ์ คนที่รับผิดชอบเขามีแผนสำรองทั้งนั้น ตื่นขึ้นมาก็คิดแล้ว ไม่งั้นแต่ละครั้งที่มีการประชุมจะมีนโยบายได้อย่างไร”

นอกจากนี้ นายสมคิด กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมธนาคารกรุงไทยด้วยว่า ได้มอบนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจาก ขณะนี้ เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างตึงตัว และ ในอนาคตก็ไม่แน่ใจว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะเป็นอย่างไร ดังนั้น ธนาคารกรุงไทยจะต้องเป็นแบงก์หลักให้กับรัฐบาล โดยจะต้องร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการขยายปริมาณเงินเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ

  • ‘อุตตม’ ยอมรับ กระทบเศรษฐกิจแน่นอน

​นายอุตตม​ สาวนายน​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้หารือกับสำนักงบประมาณ​เพื่อเตรียมแผนสำรองไว้กรณียังไม่สามารถใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้ ​แต่ยังไม่ขอบอกรายละเอียดในขณะนี้​ โดยยืนยันว่าจะใช้ทุกมาตรการที่มี และเรายังมีช่องทาง แต่ต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อเสนอรัฐบาลได้พิจารณา

ก่อนหน้านี้​ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า เมื่อกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีผลบังคับใช้​ ภายใน​ไตรมาสแรกของปีนี้​ จะสามารถผลักดันงบลงทุนของรัฐบาลได้ประมาณ​1​ แสนล้านบาท​ เนื่องจาก ส่วนราชการได้เตรียมเอกสารและขั้นตอนการประมูลไว้ล่วงหน้า เมื่อกฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ก็สามารถเปิดประมูลได้ทันที

เมื่อกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทางส่วนราชการก็ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ และหากว่า กฎหมายล่าช้าออกไปมาก
ต้องยอมรับว่า จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทางส่วนราชการก็ยังไม่สามารถลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ และหากว่า กฎหมายล่าช้าออกไปมาก ต้องยอมรับว่า จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

157975758088

ทั้งนี้ ในวันนี้ (23ม.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน จะได้มีหารือและออกมาตรการมาช่วยเร่งรัดการลงทุน เพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

  • งบลงทุนใหม่อ่วมเบิกจ่ายไม่ได้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า หากกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีความล่าช้าออกไปโดยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็คงต้องหาแนวทางที่จะทำให้การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลโดยเฉพาะในงบประมาณรายจ่ายประจำเดินหน้าไปได้ โดยจะต้องออกหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณเพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาอนุมัติให้ใช้วิธีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อนในส่วนที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงบฯได้ขอใช้งบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อนในสัดส่วน 50% ของวงเงินประมาณ ซึ่งจะสามารถเบิกจ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนมี.ค. นี้

แต่หากกฎหมายล่าช้าออกไปในระยะเวลา 2-3 เดือน เราจะเสนอขอให้งบประมาณไปพลางก่อนในสัดส่วน 75% ดังนั้น ในระหว่างนี้ ในแง่งบประมาณรายจ่ายประจำจะไม่มีปัญหาการเบิกจ่าย ส่วนงบลงทุนใหม่นั้น จะยังเบิกจ่ายไม่ได้ ซึ่งทางสำนักงบฯจะหารือกับฝ่ายกฎหมายและ สำนักงานกฤษฎีกา ว่าจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร

“ตัวที่จะกระทบมาก คือ งบลงทุนใหม่ ที่จะยังเบิกจ่ายไม่ได้ ส่วนนี้ เราต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก เพราะที่ผ่านมา เราไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่กฎหมายงบประมาณไม่ผ่าน”

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว ยังประเมินไม่ได้ว่าจะกระทบต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 หรือไม่ แต่ไม่อยากให้ประเทศได้รับผลกระทบหากงบประมาณล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญคงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าออกมาอย่างไร

157975770251

   

  • ‘หอการค้า’วอนนึกถึงประเทศ

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ทุกคนรอเงินงบประมาณที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน หาก พ.ร.บ.งบประมาณ2563 หยุดชะงัก ทำให้เงินไม่มาก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ การลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน ซึ่ง พ.ร.บ.งบประมาณก็ล่าช้าไปกว่า 3-4 เดือนแล้ว ยิ่งมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ยิ่งทำให้ช้าขึ้นไปอีก อยากให้ทุกฝ่ายคิดถึงภาพรวมของประเทศและเศรษฐกิจ

“ภาคเอกชนกังวลเรื่องนี้ อยากให้รัฐบาลและฝ่ายค้านช่วยดูเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นหลักไม่ใช่เล่นการเมืองเพียงอย่างเดียว ประเทศไทยก็จะเดินถอยหลัง ถามว่ารักประเทศไทยกันหรือไม่ ขณะนี้เราต้องพัฒนาประเทศให้เดินหน้า เพราะการแข่งขันในโลกสูง จึงอยากให้ทุกฝ่ายพูดคุยหาทางออกร่วมกัน”

  • สอท. ห่วง เศรษฐกิจกระทบหนัก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากการพิจารณางบประมาณโมฆะจนต้องเลื่อนการประกาศใช้ไปอีก 2 เดือน จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เพราะการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีการใช้จ่ายในงบลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างมหาศาล โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนที่ไม่มีการเบิกจ่ายจะกระทบภาคเอกชนมาก ส่วนผลกระทบต่อจีดีพีจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายงบของรัฐบาลว่าทำได้รวดเร็วแค่ไหน

  • เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 90 คน เข้าชื่อกันตามเงื่อนไขไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม

โดยขอให้วินิจฉัยใน 3 ประเด็น 1.กระบวนการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนน ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 120 หรือไม่ 2.หากมีปัญหา จะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และ 3.และจะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร

ขณะเดียวกัน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.​ พรรคเพื่อไทย แถลงว่า ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 84 คน เข้าชื่อเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาฯ ให้วินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ประจำปี 2563 ตราขึ้นโดยชอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่ หลังพบกรณีที่ ส.ส. ใช้สิทธิออกเสียงแทนกันระหว่างการพิจารณา

หากร่างกฎหมายเป็มโมฆะ ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลนั้นไม่ใช่การลาออก หรือยุบสภาฯ
เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่สภาฯ ไม่ให้ความเห็นชอบกับเนื้อหา
แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างกระบวนการตราร่างกฎหมาย
จึงถือว่าเป็นความผิดเฉพาะบุคคล ที่ต้องตรวจสอบ

กรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ ส.ส. มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องต่อศาลให้พิจารณาต่อกระบวนการตราร่างกฎหมายว่าชอบหรือไม่ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นอาจขัดต่อหลักการปฏิบัติหน้าที่ฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยและใช้สิทธิเกิน 1 เสียงที่แต่ละคนได้รับ ตามรัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ตามหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและวินิจฉัยว่ากระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบ จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นต้องตกไปทั้งฉบับ

“หากร่างกฎหมายเป็มโมฆะ ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลนั้นไม่ใช่การลาออก หรือยุบสภาฯ เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่สภาฯ ไม่ให้ความเห็นชอบกับเนื้อหา แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระหว่างกระบวนการตราร่างกฎหมาย จึงถือว่าเป็นความผิดเฉพาะบุคคล ที่ต้องตรวจสอบ”

  • “สมคิด” ถกเร่งรัดลงทุน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่าวันนี้ (23 ม.ค.) นายสมคิดในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน จะประชุมนัดแรก

นายสมคิด กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะพิจารณามาตรการการลงทุนในส่วนของกระทรวงการคลังที่จะเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชน โดยจะเป็นมาตรการเพิ่มเติมที่ดีกว่ามาตรการที่กระทรวงการคลังมีอยู่คือหักภาษีสำหรับการลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่า

ก่อนหน้านี้ นายสมคิดมอบหมายให้บีโอไอหารือกับกระทรวงการคลังจัดทำมาตรการเร่งรัดการลงทุนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าโดยเน้นที่นักลงทุนไทยให้มีการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนซึ่งควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า และช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเน้นโครงการที่ค้างหรือมีความล่าช้าของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนายสมคิดให้จัดทำรายชื่อโครงการที่ต้องมีการเร่งรัดการลงทุนในปี 2563

รายงานข่าวระบุว่า นายสมคิด ต้องการเร่งรัดการเบิกจ่ายและขับเคลื่อนแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งในส่วนโครงการที่ล่าช้าในปี 2562 และโครงการที่จะดำเนินการในปี 2563 ซึ่งได้กำชับผู้บริหารของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)เพื่อเร่งลงทุนตามแผนที่วางไว้เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด

ส่วนกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปี 2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 365,553 ล้านบาทมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่นโครงการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงิน28,120 ล้านบาทโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-รังสิต วงเงิน 12,584 ล้านบาท