กัญชาครบวงจร 'อภัยภูเบศร'  

กัญชาครบวงจร 'อภัยภูเบศร'   

กัญชาใช้รักษาโรคได้แค่ไหน ใช้อย่างไร หากไม่ทำความเข้าใจอาจใช้ผิดทาง เรื่องนี้เภสัชกรที่ทำงานกับสมุนไพรทั้งชีวิตมีแง่มุมชวนคิด

“องค์ความรู้เรื่องกัญชาหายไปตั้งแต่การปลูก สายพันธุ์ การสกัดและการจ่ายยา สิ่งที่เรากลัวคือ องค์ความรู้ที่เข้ามาทั้งหมดเป็นของต่างประเทศ...” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ. ปราจีนบุรี เล่าถึงที่มาที่ไปที่ทำให้โรงพยาบาลเล็กๆ แห่งนี้ ทำเรื่องกัญชาครบวงจร รวมถึง เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ มียาตำรับที่มีกัญชาปรุงผสม เน้นการรักษาโดยติดตามการใช้ การเฝ้าระวังความปลอดภัย เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และดูแลแบบองค์รวม

ดร.สุภาภรณ์ ยกตัวอย่าง ยาศุขไสยาศน์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้จริง ซึ่งประเมินจากเครื่องมือ Pittsburgh Sleep Quality Index (PSQI)ในกรณีที่ใช้ยานอนหลับอื่นมาแล้วไม่ได้ผล และยังพบว่า ยาทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น นำไปสู่การขึ้นทะเบียนยา

157975547898  

ผลิตภัณฑ์จากอภัยภูเบศร

-1-

“เรื่องกัญชามีการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เยอะ ทำให้คนไข้เสียโอกาสในการรักษา มีทั้งอันตรายและหลอกลวง ที่ผ่านมาเราพูดถึงกัญชาเป็นคนแรกของประเทศ ทำไมประเทศเราพึ่งพิงตนเองเรื่องยาไม่ได้ ทั้งๆ ที่กัญชาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยา  แต่เรานำเข้าสารเคมีที่ใช้ทำยาแผนปัจจุบันเกือบทั้งหมด" ดร.สุภาภรณ์ เล่าและบอกว่า คนไข้ที่มีอาการสั่นหรือปัญหาการเคลื่อนไหว กัญชาในตำรายาโบราณ มีศักยภาพในการรักษา และเมื่อทำเรื่องนี้จึงต้องเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ และอยากให้โรงพยาบาลอื่นๆ ทำแบบนี้บ้าง ไม่ควรปล่อยให้ชาวบ้านใช้กัญชาแล้วมีปัญหา

เนื่องจากการใช้กัญชาทางการแพทย์กำลังเป็นเทรนด์ของโลก มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และที่สำคัญคือ ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ดร.สุภาภรณ์ บอกว่า ถ้าทำให้เป็นระบบก็จะสามารถใช้ข้อมูลทำวิจัยระดับสูงในอนาคตได้ด้วย 

"ทางเราตั้งใจว่า ไทยจะต้องเป็นผู้นำกัญชาทางการแพทย์ของโลก เชื่อว่าทำได้ ที่ผ่านมาเราสืบค้นข้อมูลทางอายุรเวท มียากัญชากว่าร้อยตำรับ ถ้าสืบค้นทั้งประเทศ ยังมีอีกเยอะ” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว และโยงว่า วิถีดั้งเดิมของคนไทยใช้กัญชาใส่อาหาร และรู้ว่าใส่แค่ไหนเหมาะสม เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์กระตุ้นต่อมประสาท ทำให้เกิดภาพหลอน อารมณ์ดี และง่วง

“เรื่องกัญชาในเมืองไทย ยังเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน จึงต้องมีระบบติดตาม ป้องกันไม่ให้คนไข้ใช้แล้วได้รับอันตราย ” เภสัชกรสุภาภรณ์ ย้ำ

 

-2-

แม้คนส่วนใหญ่จะรู้จักกัญชาเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องทำความเข้าใจสักนิดว่า สารสกัดในกัญชามีสองอย่างคือ สาร CBD (Canabidiol) และสาร THC (Tetrahydroconnabinol)

ทั้งสองชนิดมีการเรียงตัวของอะตอมต่างกัน และสรรพคุณต่างกัน

ถ้าเป็นสาร CBD สามารถใช้ปริมาณเยอะได้ แต่ก็ต้องพอเหมาะพอควร สารตัวนี้ไม่มีผลข้างเคียง ไม่ทำให้มึนเมา และไม่ส่งผลต่อระบบประสาท ถูกนำมาใช้ในคนป่วยที่นอนไม่หลับ หรือเป็นโรคลมชัก รวมถึงลดอาการปวด ฯลฯ เนื่องจากไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

 ส่วนสาร THC มีคุณสมบัติต่อจิตประสาท ทำให้ผ่อนคลายและเคลิบเคลิ้ม หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการตึงเครียดได้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีจะมีผลข้างเคียง  อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ร่างกายตอบสนองช้า และสูญเสียความทรงจำได้ อย่างไรก็ตามสารตัวนี้ช่วยรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ได้

ดังนั้นกัญชาที่ดี ต้องเริ่มจากต้นทางคือ การปลูกและคัดเลือกสายพันธุ์  เภสัชกรสุภาภรณ์ บอกว่า เราปลูกทั้งสองระบบคือ กลางแจ้งและโรงเรือน ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่ทันกับความต้องการในการใช้ยา จึงต้องนำกัญชาของกลางที่ถูกจับมาสกัดโลหะหนักออก เพื่อทำเป็นยาที่ปลอดภัย

"การปลูกสมุนไพรและกัญชา เราทำงานกับชาวบ้านมานาน องค์ความรู้ส่วนหนึ่งมาจากชาวบ้าน และยังต้องหาความรู้ ทำงานวิจัย เรามั่นใจระดับหนึ่งว่ากัญชาไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในสังคม แต่ต้องเข้าใจปริมาณการใช้ที่เหมาะสม

จึงเป็นที่มาของการทำโมเดลเรื่องกัญชา ร่วมกับองค์การอาหารและยา ทำคู่มือให้เกษตรกรปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากการปลูกกัญชาในไทยยังผิดกฎหมาย ต้องให้เกษตรกรขอนิรโทษกรรม ปลูกแล้วส่งมอบให้ทางการแพทย์ ถ้าจะใช้ใบกัญชา ก็เลือกปลูกกลางแจ้ง ถ้าสกัดเป็นน้ำมันจะปลูกในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งเรื่องกัญชาทุกอย่างมีสิทธิบัตร ตอนนี้มีกรณีต่างชาตินำเมล็ดพันธุ์และวิธีการเข้ามาในเมืองไทย เมื่อสกัดสารให้คนไข้ แล้วเอาสิทธิบัตรงานวิจัยไปขาย คนไทยก็เป็นแค่แรงงาน เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ไม่ใช่ของคนไทย”

-3-

เธอหวังเสมอว่า ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาจากต้นไม้ และกัญชาก็เป็นความหวังที่พวกเขากำลังทำอยู่ เพื่อให้ประชาชนพึ่งพิงตนเองมากขึ้น 

"สมัยก่อนจะเสพกัญชา ก็มีครูกัญชา จะใช้ขนาดไหนต้องรู้ แต่ตอนนี้เหมือนตาบอดคลำช้าง แพทย์แผนปัจจุบันก็แอนตี้ เราจึงต้องทำข้อมูลให้ประจักษ์ว่า มีข้อควรระวังและผลข้างเคียงอะไร อย่างโรคพาร์กินสัน สามารถใช้สารสกัดในกัญชาทั้งสองตัว เรายังมีองค์ความรู้เรื่องนี้น้อยมาก

สารCBD จะนำมาใช้ได้ ต้องมีสาร THC น้อยกว่า 0.2 ถ้าตรวจแล้วว่าเกิน ในเมืองนอกถ้าปลูกกัญชงแล้วมีสาร THC สูง ฟันทิ้งเลย แต่บ้านเราสงสารเกษตรกร ต้องส่งมอบให้หน่วยงานราชการ จึงต้องมีระบบจัดการ ส่วนสารในกัญชา CBD คนเสพไม่ติดไม่เมา เกษตรกรปลูกนอกพื้นที่ได้ แต่อยู่ในระบบควบคุม กัญชงถ้าปลูกในพื้นที่มียูวีสูงๆ ก็กลายเป็นกัญชาได้ เพราะสาร CBD เกิน เรื่องทั้งหมดที่ทำ เราไม่คิดจดสิทธิบัตร อยากเผยแพร่สายพันธุ์ ทางเรานำเข้าสายพันธุ์หนึ่งชื่่อ Charlotte มี CBDสูง  เรากำลังพัฒนาสายพันธุ์ ถ้าเราทำได้แล้ว เราไม่หวง ”

เมื่อถามถึงองค์ความรู้เรื่องกัญชา เภสัชกรในคราบนักบริหาร บอกว่า เรื่องกัญชาในบ้านเราล้าหลังต่างประเทศประมาณ 20 ปี ยกตัวอย่าง การพัฒนาสายพันธุ์ ถ้าเป็นพันธุ์ในเมืองไทย สาร THC จะโดดเด่น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแสงยูวีเยอะ 

“เราต้องสู้เรื่องพัฒนาสายพันธุ์ คนไทยเก่งเรื่องนี้ สายพันธุ์ข้าวเรายังทำได้ ” เภสัชกรสุภาภรณ์ กล่าว และย้ำว่า อยากผลักดันไปถึงจุดที่ไทยเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์กัญชาของโลก

“ถ้าอุตสาหกรรมกัญชาเติบโต ไทยสามารถขายแข่งกับต่างประเทศได้ เราจะปลูกกัญชาได้เยอะ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายทุนอย่างเดียว อยากให้มีระบบเชื่อมโยงกับเกษตรกร  และที่ผ่านมามูลนิธิของโรงพยาบาลทำสัญญาล่วงหน้ากับเกษตรกรอินทรีย์ เพื่อยกระดับเกษตรกร  ต่อไปเราจะทำวิจัยสร้างความหลากหลายผลิตภัณฑ์จากกัญชา ถ้านำเรื่องนี้มาโยงกับวัฒนธรรม ยังสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว สร้างรายได้ได้ด้วย

สาร CBD ที่สกัดออกมา เสพแล้วไม่ติดไม่เมา ก็เอามาทำเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์สปา อาจเชื่อมกับการท่องเที่ยวให้ไทยเป็นเมดิคอล ฮับ อย่างการตายอย่างสงบ กัญชาโดดเด่นเรื่อง คลายเครียด ระบบประสาท การปวด การนอนหลับ การเคลื่อนไหวผิดปกติ คือศักยภาพของกัญชา ในเมืองไทยอาหารการกินไม่ได้ขาดแคลน แต่ในเรื่องปัญหาจิตใจกำลังมีปัญหา กัญชาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้"

เภสัชกรคนเดิม เล่าต่อว่า  ถ้าวันหนึ่งพวกเราสู้เรื่องนี้ไม่ไหว โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตร เราก็คิดว่า ถ้ามีบริษัทที่ร่วมมือกับทีมเราได้ เราจะช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนเมล็ดพันธุ์ช่วยกันพัฒนา  เมื่อวิจัยเสร็จทำเป็นยาแล้วสิทธิบัตรคนละครึ่ง

"เราไม่มีเวลาในการแข่งขัน แต่เราไม่อยากเสียเปรียบ ถ้าเราหาบริษัทที่ใช่ได้ ก็น่าจะเป็นทางเลือก เพราะความเป็นอภัยภูเบศรเนื้อหอมอยู่แล้ว เรามีทีมงานอุดมคติที่ทำงานกันมานาน โจทย์หลักไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นการเคลื่อนสังคมให้เห็นภูมิปัญญาดั้งเดิมว่ามีมูลค่า 

ล่าสุดพวกเราทำวิจัย เรื่องกลีบบัวแดง พริกไทย และใบบัวบก ทดลองในหนูแล้ว ยาตัวนี้มีกลไกลฟื้นฟูความจำและการนอนหลับ แก้ปัญหาอัลไซเมอร์ได้ เราขึ้นทะเบียนแล้ว จะเปิดตัวในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ"

157975553532  ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวเรือหลักในการขับเคลื่อนเรื่องกัญชาทางการแพทย์

 

คลินิกกัญชาทางการแพทย์

เปิดบริการที่ งานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยบูเบศร จ.ปราจีนบุรี  ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ ให้คำปรึกษาเฉพาะทางการแพทย์แผนไทย จ่ายยาตำรับที่มีกัญชาปรุงผสม 

โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มโรค/อาการนอนไม่หลับเรื้อรังเกิน 1 เดือน เคยรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล และกลุ่มอาการระบบกล้ามเนื้อ เรื้อรัง มีอาการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ได้แก่อาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรงไม่มีกำลัง อาการชา 

กัญชามีข้อห้ามใช้สำหรับผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือด ผู้มีระบบสัญญาณชีพผิดปกติหรือคุมไม่ได้ หญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร และผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือมีความผิดปกติของตับและไต

คลินิกกัญชาทางการแพทย์ เบอร์โทร 037-211289 งานการแพทย์แผนไทย เบอร์โทร 037-216164 และ 085-3912255

งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ในวันที่ 4-8 มีนาคม 2563 ที่อิมแพคฮอลล์ 10-12 เมืองทองธานี นอกจากความรู้เรื่องสมุนไพร ในบูธโรงพยาบาล ยังมีการแจกหนังสือบันทึกแผ่นดินเหมือนเช่นทุกปี วันละสองร้อยเล่ม (ชุดที่ 12 เป็นหนังสือกัญชาและเพื่อนผองเพื่อสมองและหัวใจ รวบรวมภูมิปัญญาดั้งเดิม ตำรับอาหารทำจากกัญชา ความรู้ยานอนหลับและสมุนไพรอื่นๆ)