การทำขนส่งฟรีในหลากหลายเมือง

ในต่างประเทศมีการทำระบบขนส่งฟรี ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งฟรีเฉพาะวันหยุดเพื่อกระตุ้นท่องเที่ยว, ฟรีเฉพาะย่าน โดยทดลองในย่านธุรกิจเพื่อแก้ปัญหารถติด หรือฟรีทั้งเมือง เพื่อลดการจราจรติดขัด และช่วยผู้มีรายได้น้อย ถ้าหากไทยนำมาทำบ้าง จะเวิร์คหรือไม่?

จากที่สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจ "การกินอยู่ของประชาชน ณ วันนี้" จากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 19-23 พ.ย.2562 พบว่าประชาชนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การช้อปปิ้ง การท่องเที่ยว งานเลี้ยงสังสรรค์ และของฟุ่มเฟือยมาเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังพบว่าสิ่งที่ประชาชนไม่สามารถประหยัดได้อันดับหนึ่งคือ การเดินทาง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ ค่าน้ำมัน 

หลายเมืองทั่วโลกได้เรียกร้องให้มีการลดค่าโดยสาร อย่างน้อยที่สุดควรลดค่าโดยสารให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น ระบบขนส่งของเมืองเดนเวอร์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ในสหรัฐ ได้ลดค่าโดยสาร 45% ให้กับผู้ที่มีรายได้มากกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 2 เท่า แต่ก็มีอีกหลายเมืองที่ได้ทดลองทำขนส่งฟรี 3 รูปแบบหลักๆ ดังนี้ 

1.ขนส่งฟรีเฉพาะวันหยุด : Squamish District ที่สควอมิช (Squamish) เมืองท่องเที่ยวในรัฐบริทิชโคลัมเบีย แคนาดา ได้ทำโครงการระบบขนส่ง "ฟรี" ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ช่วงฤดูร้อนและวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ Free Summer Weekend Service ในปี 2018 เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในเมือง โดยได้การอุดหนุนงบจาก "Sea to Sky Gondola" ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถกระเช้าไปชมวิวบนยอดเขา 

แม้โครงการจะทดลองเพียง 3 เดือน แต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ โครงการขนส่งฟรีสามารถเพิ่มผู้โดยสารทั้งระบบได้ถึง 20% ในขณะที่ค่าโดยสารรายวันสำหรับคนทั่วไป (Daypass) อยู่ที่ 4 ดอลลาร์ ซึ่งแรงงานในรัฐบริทิชโคลัมเบียทำงานประมาณ 20 นาที ก็สามารถจ่ายค่าโดยสารทั้งวันได้แล้วก็ตาม 

เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เมืองสควอมิช ประกาศให้ดำเนินโครงการต่อออกไป 2 ปี จนถึงปี 2020 ผู้จัดการรถกระเช้า มองว่าขนส่งฟรีเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย คนที่เป็นพนักงานและซื้อบัตรรถกระเช้ารายปีก็ได้ประโยชน์จากขนส่งฟรี แถมยังช่วยลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวที่เป็นปัญหาเรื่องที่จอดในช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากอีกด้วย 

2.ขนส่งฟรีเฉพาะย่าน : Perth Central Area Transit

นอกจากจะฟรีให้เด็กต่ำกว่า 7 ขวบแล้ว Perth ในออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้ทำขนส่งฟรี โดย Transperth ซึ่งเป็นองค์การขนส่งมวลชนของรัฐออสเตรเลียตะวันตก ประกาศเขตพื้นที่ใช้ขนส่งฟรี (Free Transit Zone) ใจกลางเมืองที่เป็นย่านธุรกิจ (Perth Central Area Transit) ประกอบด้วยรถโดยสารประจำทาง 4 เส้นทาง ครอบคลุม 99 ป้ายรถเมล์ และรถไฟ

ในทางหนึ่ง การทำขนส่งฟรีในย่านธุรกิจก็สวนทางกับทฤษฎีการกระจายความเจริญที่รัฐควรจะกระจายความเจริญจากศูนย์กลางไปยังพื้นที่รอบนอกเพื่อลดความแออัด แล้วจูงใจด้วยการทำขนส่งฟรีในพื้นที่ชานเมือง แต่ปัญหาหลักของเมืองเพิร์ธคือผู้ที่เข้ามาทำงานในใจกลางเมืองยังนิยมใช้รถส่วนตัว เพราะสะดวก รวดเร็ว และถูกกว่าการใช้ขนส่งสาธารณะ ในขณะที่การใช้ขนส่งมวลชนฟรี ผู้คนต้องขับรถมาจอดที่สถานีรถไฟซึ่งต้องเสียค่าที่จอดรายวัน การเดินทางก็ใช้เวลานาน และต้องเปลี่ยนรถหลายรอบกว่าจะถึงที่ทำงาน

ABC News สื่อหลักของออสเตรเลีย ได้สัมภาษณ์คนทำงานในใจกลางเมือง Perth ว่าการเดินทางไปทำงานโดยใช้ขนส่งมวลชนใช้เวลาเดินทางไปกลับ 3 ชั่วโมง ขณะที่ขับรถไปทำงานใช้เวลา 2 ชั่วโมง และเมื่อเปรียบเทียบค่าเดินทาง พบว่าขับรถไปทำงานประหยัดกว่าใช้ขนส่งมวลชนถึง 13.55 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ สอดคล้องกับสถิติการใช้ขนส่งมวลชนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 150 ล้านครั้งในปี 2013 เหลือ 140 ล้านครั้งในปี 2018 ผู้เชี่ยวชาญการขนส่งชี้ให้เห็นว่า การที่รัฐบาลลงทุนก่อสร้างถนนใหม่มากขึ้น ยิ่งทำให้คนไม่จูงใจที่จะใช้ขนส่งมวลชน 

กรณีเมืองของเพิร์ธสะท้อนให้เห็นว่าการทำขนส่งฟรีพื้นที่เดียวเพื่อแก้ปัญหารถติดในเมืองนั้นยังไม่เพียงพอ หัวใจสำคัญคือการทำให้ขนส่งมวลชนเร็วและถูกกว่ารถส่วนตัว แล้วค่อยขยายพื้นที่ขนส่งฟรีออกไป จึงจะจูงใจให้คนใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น 

3.ขนส่งฟรีทั้งเมือง : Tallinn Estonia

หลังจากที่ประชาชนลงประชามติเห็นด้วยกับการทำขนส่งฟรีทั้งเมือง ปี 2013 เมืองทาลลินน์ (Tallinn) เมืองหลวงประเทศเอสโทเนีย ทดลองทำขนส่งมวลชนฟรีทั้งเมืองให้กับประชาชน เพื่อลดการจราจรที่ติดขัดและช่วยประหยัดค่าเดินทางสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยการใช้ขนส่งฟรีจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองทาลลินน์และซื้อบัตรโดยสารราคา 2 ยูโร เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง ส่วนชาวเอสโทเนียที่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านในเมืองทาลลินน์และนักท่องเที่ยวยังคงต้องจ่ายค่าเดินทางราคาเต็ม 

แนวคิดในการทำขนส่งฟรีทั้งเมือง เกิดจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นได้เก็บภาษีเงินได้ของคนที่ทำงานทุกปีอยู่แล้ว อย่างน้อยๆ คนละ 1,000 ยูโร (ประมาณ 3.3 หมื่นบาท) และการลงทะเบียนเป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองทาลลินน์ ถือเป็นการดึงเอาภาษีเงินบางส่วนของประชาชนจากเมืองอื่นมายังเมืองทาลลินน์ การเป็นผู้อยู่อาศัยของเมืองทาลลินน์ไม่เพียงแต่จะได้ใช้ขนส่งฟรี แต่ยังรวมไปถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่น สถานเลี้ยงดูเด็กเล็กและโรงเรียนของท้องถิ่นในราคาถูก 

จากการศึกษาการทำขนส่งฟรีในเมืองทาลลินน์ พบว่าปีแรกที่ทดลองทำขนส่งฟรีมีคนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น 14% แต่การใช้รถส่วนตัวกลับลดลงเพียง 5% ในขณะที่การเดินเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ ลดลง 40%

สรุปได้ว่าคนเปลี่ยนจากการเดินเท้ามาใช้ระบบขนส่ง มากกว่าคนที่ใช้รถส่วนตัวแล้วหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ เพราะฉะนั้นการจะทำให้คนใช้ขนส่งฟรีมากขึ้นต้องทำให้การขับรถส่วนตัวแพงขึ้น เช่น การออกกฎหมายเพิ่มค่าที่จอดรถและภาษีรถยนต์อื่นๆ 

จะเห็นได้ว่าการทำขนส่งฟรีในต่างประเทศมีทั้งกรณีที่ประสบความสำเร็จในขั้นแรก สามารถขยายพื้นที่ให้บริการ ขยายเวลาการใช้บริการไปออกไป และก็มีกรณีที่ขนส่งฟรียังไปไม่ถึงเป้าที่ให้ประชาชนใช้ขนส่งมากขึ้น ลดปัญหารถติดและต้องการการเดินทางที่เร็วขึ้น

ในอดีตกรุงเทพฯ ก็มีการทำขนส่งฟรีบ้าง เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นการให้สิทธิเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงจะได้วงเงิน 500 บาทต่อเดือน สำหรับการขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้า

อย่างไรก็ดีรัฐบาลไทยน่าจะทดลองทำขนส่งฟรี เช่น รถไฟฟ้าฟรีในวันที่ 12 ..2562 ให้มากขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานและออกแบบนโยบายเพื่อลดปัญหารถติดในอนาคต