“แอตต้า” จี้แก้บาทแข็ง-ฝุ่นพิษ หวั่นกระทบเป้าท่องเที่ยวปี 63

“แอตต้า” จี้แก้บาทแข็ง-ฝุ่นพิษ หวั่นกระทบเป้าท่องเที่ยวปี 63

นายกฯแอตต้า หวั่นค่าบาทแข็งทะลุ 29 บาทต่อดอลลาร์ ฝุ่น PM2.5 กระทบยอดนักท่องเที่ยวต่ำเป้าที่ตั้งไว้ที่ 41-42 ล้านคนในปี 2563 เหตุนักท่องเที่ยวหันเที่ยวประเทศคู่แข่งมาเลเซีย เวียดนาม

นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2563 ว่า เป็นปีหนูไฟไม่ใช่หนูทองอย่างที่คิดเพราะมีปัญหาเข้ามาตั้งแต่ต้นปีไม่ต่างปีหมูที่ไม่หมู แต่เชื่อว่าทุกอย่างแก้ไขได้ 

ปัญหาสำคัญที่เป็นปัจจัยลบของท่องเที่ยวปี 2563 คือ “ค่าเงินบาท”ที่แข็งค่าขึ้น โดยคาดการณ์ว่าเงินบาทจะแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ โดยผู้ประกอบการอยากให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เช่นนั้นอาจจะกระทบกับเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2563 ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้า 41-42 ล้านคน 

นอกจากนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นอีกปัญหาสำคัญในสายตาของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย ยิ่งใส่หน้ากากกันมาก ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยเป็นผลเชิงจิตวิทยา จึงอยากให้ใส่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น

เขายังเห็นว่า ในทางปฏิบัติการกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะต้องประกอบ 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ออกนโยบาย มาตรการมาช่วยเหลือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการทำตลาด และภาคเอกชน คือกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ต้องพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ออกมารองรับตลาดในระดับราคาที่เหมาะสม หากไม่ทำงานประสานกันจะสูญเสียโอกาสให้กับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เวียดนาม ฯล ที่มีค่าเงินที่ถูกกว่า 

รวมทั้ง มีมาตรการรัฐที่เข้ามาสนับสนุน อาทิ มีข่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียยกเลิกวีซ่าให้กับคนจีน อินเดีย หากเป็นเช่นนั้นจริง แค่ 5% ของคนจีนที่เข้ามาประเทศไทยมีจำนวน 11 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้มหาศาล เพราะคนจีนยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนมากที่สุด

นายกฯแอตต้า ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนา ยังคงยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน อย่างไรก็ตามต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในเดือนก.พ.และมี.ค.นี้ว่า รัฐบาลจีนจะสามารถรับมือกับการระบาดของโรคได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวหลักยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจีน เพราะมีประชากรจำนวนมาก รองลงมาเป็นอินเดีย ไต้หวัน รวมถึงนักท่องเที่ยวในซีแอลเอ็มวี

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่าในปี 2562 ตัวเลขอัตราการเข้าพักในโรงแรม โดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 70-75% จากปกติจะอยู่ที่ 80% สาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และสัดส่วนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนิยมเดินทางมาเที่ยวเอง(F.I.T.)ไม่ได้ผ่านกรุ๊ปทัวร์เหมือนในอดีต และแนวโน้มพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปนิยมบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสะดวกสบาย ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 

ดังนั้นผู้ประกอบการโรงแรมไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และในปี 2563 จะประมูล 5จีในประเทศไทยทำให้ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับความรวดเร็วที่เกิดขึ้นกับการบริการลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

“แนวโน้มธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศขานรับเทรนด์ของโลกที่มีการนำออนไลน์เข้ามาเป็นช่องทางการจองซื้อห้องพักรวมถึงคนไทยด้วยซึ่งเป็นพฤติกรรมของผู้ใช้บริการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยศักยภาพของโรงแรมในประเทศไทยมีไม่เท่ากัน ดังนั้นปี 2563 การเปิด booking online เป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนให้ถึง 70% ของการค้าขายห้องพัก ส่วนการจองผ่านตัวแทนหรือเอเย่นต์ก็ยังคงไว้บางส่วนแต่ลดลงเรื่อยๆ เพราะมีจุดเด่นคือ ความรวดเร็ว สะดวกสบาย เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและตรงกลุ่มเป้าหมาย" 

ส่วนในเรื่องของราคานำเสนอขายทางออนไลน์มีทั้งข้อดีและข้อเสียผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวตลอดเวลา ต้องเพิ่มความเร่งและเฝ้าจับตาตลอดถึงยอดจองต่อเนื่อง เพื่อทำโปรโมชั่นหรือลดราคาห้องพักให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ารวมถึงการเพิ่มอัตราการเข้าพักเฉลี่ยให้เข้าเป้าหมาย