ชงรัฐ แก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ เพิ่มการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ-สิทธิการรักษา

ชงรัฐ แก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ เพิ่มการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ-สิทธิการรักษา

จากข้อมูลประกาศสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ตามหลักฐานการขึ้นทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2560 ในจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรไทยที่มีมากว่า 66.1 ล้านคน มีบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยถึง 875,814 คน

ในปี 2555 มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้เปิดประเด็น “ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ” ครั้งแรก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการพัฒนาสุขภาวะผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในพื้นที่พรมแดนไทย-เมียนมา และไทย-ลาว ด้วยการศึกษาข้อมูลสถานการณ์และปัญหาที่ผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติประสบอยู่เพื่อสื่อสารกับสังคม 

พบว่า กลุ่มผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มี 2 ลักษณะ คือ 1. กลุ่มผู้เฒ่าที่เกิดในประเทศไทย เป็น “ชาวเขาติดแผ่นดิน” และ 2. กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่นานแล้วจนกลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานเหลนที่ได้พัฒนาสถานะแล้ว ได้เข้าศึกษาและทำงานร่วมสร้างเศรษฐกิจให้สังคมไทย

157969589271

ข้อมูลจาก พชภ. ระบุว่า กลุ่มชาวเขาติดแผ่นดินที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังคงไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สามารถเข้าหลักเกณฑ์การยื่นเอกสารการลงรายการสัญชาติไทย ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณา รายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ระเบียบ 43” คือ ผู้ที่เกิดในประเทศไทยระหว่างวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ให้สันนิษฐานว่ามีสัญชาติไทย เว้นแต่พิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น

  • ผู้เฒ่าไร้บัตร ไร้สิทธิ ไร้ความภูมิใจ

ทั้งนี้ ปัญหาการรับรองสัญชาติไทย สำหรับ “ชาวเขาติดแผ่นดิน” ตามระเบียบ 43 ที่จำเป็นต้องมีนโยบายพิเศษ (Fast Track) เนื่องจากผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ตกหล่นการสำรวจจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีสถานะเป็นคนไร้รัฐยังมีอยู่ ขั้นตอนการยื่นคำร้อง ต้องรวบรวมเอกสารและหลักฐานจำนวนมาก และต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนเกินความสามารถของผู้เฒ่า ที่จะดำเนินการเอง ไม่มีช่องทางด่วนนโยบายพิเศษ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถทำได้ในระดับอำเภอ หากเอกสารหลักฐานชัดเจน และกรณีข้อมูลจากการสำรวจผิดพลาด เอกสารไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขที่ชัดเจน

157969589263

ทำให้ผู้เฒ่าจำนวนมากที่ไม่มีบัตรประชาชน การเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ ไม่สามารถรับการรักษาพยาบาลได้ตามที่ควรจะได้รับ เข้าไม่ถึงการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ อาทิ เบี้ยยังชีพ นอกจากประเด็นการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแล้ว ยังพบว่า ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ ต้องการได้ความภาคภูมิใจ ในฐานะประชาชนที่อาศัยในรัฐไทย เป็นบุพการีของลูกหลานที่ส่วนใหญ่ได้รับการรับรองเป็นคนไทยแล้วโดยสมบูรณ์ นั่นคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้ง พชภ. กล่าวระหว่างการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านกิ่วสะไต และบ้านเฮโก ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และหมู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ว่า กฎกระทรวง ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ มีความทับซ้อนมาก เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เขามีภารกิจหลายด้าน

157969589265

ดังนั้น หากดูตามคำมั่นของมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่เห็นชอบให้ผู้แทนของประเทศไทยไปแถลงต่อที่ประชุมของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งเรื่องการปรับปรุงระบบการเข้าถึง กระบวนการเรื่องการพัฒนาสถานะ รวมถึงเรื่องผู้สูงอายุไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกในการเป็นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหา 

157969589288

"ประเทศไทยควรมีหน่วยงานที่แก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติโดยเฉพาะ และปรับทัศนคติการทำงานของหน่วยงานที่มองว่าเรื่องของคนผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ยังไม่เป็นเรื่องเร่งด่วน นอกจากนี้ การก้าวสู่สังคมสูงวัย โดยหลักสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางเตือนใจ กล่าว

ด้าน กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่นานแล้ว จนกลมกลืนกับสังคมไทย เป็นระยะเวลา 30-50 ปี แต่ยังไม่สามารถพัฒนาสถานะบุคคลของตน เป็นต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย และมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทย เนื่องจากความล่าช้า การเรียกพยานหลักฐานจำนวนมาก โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ ทำให้ปัจจุบันกลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาสถานะบุคคลให้ถูกต้องตามกฏหมาย

157969589258

แม้ที่ผ่านมา แม้จะมีหนังสือสั่งการ ของปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบพิจารณา คุณสมบัติของชนกลุ่มน้อยที่แปลงสัญชาติเป็นไทย โดยหนังสือสั่งการดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า “ในประเด็นที่เกี่ยวกับการมีอาชีพเป็นหลักฐาน และการมีความรู้ภาษาไทย สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติไทย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นผู้สูงอายุ ให้คนกลุ่มดังกล่าว สามารถเข้าสู่สิทธิในการแปลงสัญชาติเป็นไทยได้” โดยมีเงื่อนไขดังนี้

157969673754

1) การมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้ยกเว้นเรื่องเกณฑ์รายได้และการเสียภาษี และให้นายอำเภอเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ 2) การมีความรู้ภาษาไทย ให้พิจารณาการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร (พูดและฟัง) ได้บ้างพอสมควร และร้องเพลงชาติหรือเพลงสรรเสริฐพระบารมีได้บ้าง และ 3) หลักเกณฑ์ตาม 1) และ 2) ให้ใช้กับชนกลุ่มน้อยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่น้อยกว่า 20 ปี ให้ลดระยะเวลาการได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่น้อยกว่า 5 ปี

157969673742

ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การพัฒนานโยบายพิเศษ (Fast Track) ของผู้เฒ่ากลุ่มไร้สัญชาติ แปลงสัญชาติ ในกลุ่มนี้ยังพบปัญหาว่ามีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ 1.การยื่นคำร้องต่อสำนักทะเบียน อำเภอ เพื่อพิจารณา 2.พิจารณาระดับจังหวัด 3.คณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติระดับกรมการปกครอง 4.ส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติ 5.รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยทูลเกล้าถ่ายให้พระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไทย 6.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

157969589216

นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาทิ ตรวจประวัติอาชญากรรม ทั้งระดับอำเภอและจังหวัด สำนักงานตำรวจภูธรจังหวัด สำนักป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และระดับกรมการปกครอง ส่งตรวจสันนิบาล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหลายปี

ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับกรณีการขอแปลงสัญชาติขณะนี้ สามารถทำได้ 3 แบบ คือ แบบทั่วไป แบบผู้ที่ทำคุณประโยชน์ และแบบให้ผู้ด้อยโอกาส ในกรณีที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ ต้องเข้าเงื่อนไข 5 ข้อ คือ 1.อายุ 20 ปีขึ้นไป 2.มีความประพฤติดี 3.มีอาชีพเป็นหลักฐาน 4. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และ 5.พูดฟังภาษาไทยได้ ที่ผ่านมาพบว่า บางรายมีปัญหาติดขัดบางประการ คือ กรณีมีอาชีพ แต่หน่วยงานไม่ได้ออกให้ทั้งๆ ที่เขาทำอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีต

157969673089

“ตนได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นจะยื่นต่อกรมการปกครอง เพื่อขอให้ดำเนินการ เพราะที่ผ่านมา เรื่องที่ยื่นถูกค้างไว้นานโดยไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายระบุว่าเจ้าหน้าที่จะต้องรับคำร้องและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตนจะพยายามเสนอให้เจ้าหน้าที่ออกใบรับคำร้องเพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป” ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าว

157969673791

บัตรประชาชนใบแรกในแผ่นดินไทย

เมื่อปีที่ผ่านมา ทาง พชภ. ได้ทำการทดลองเสนอนโยบายพิเศษ (Fast Track) สำหรับแม่เฒ่าไร้สัญชาติบ้านกิ่วสะไต ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย วัย 65 – 98 ปี โดยดำเนินการจัดทำเอกสารประกอบการยื่นคำร่องขอลงรายการสัญชาติไทย ให้แก่แม่เฒ่าจำนวน 16 ราย เพื่อประกอบการยื่นคำร่องที่อำเภอแม่จัน โดยทำงานหนุนเสริมการเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่สำนักทะเบีนย อ.แม่จัน ในการสอบข้อมูลสภาพแวดล้อม รวมถึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย จนปัจจุบัน แม่เฒ่าทั้ง 16 ราย ได้ทำการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ลงรายการสัญชาติไทย และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเป็นครั้งแรก

157969589234

นางโชชูน เบกากู่ อดีตแม่เฒ่าไร้สัญชาติ บ้านกิ่วสะไต ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย อายุ 66 ปี เล่าว่า ตนมาอยู่ที่เมืองไทยมากกว่า 40 ปี ปัจจุบันทำอาชีพเย็บผ้า รู้สึกดีใจมากที่ได้บัตรประชาชน มีความสุข และภูมิใจมาก หลังจากได้บัตรก็มีโอกาสไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่อยู่ประเทศจีน 2 ครั้ง เนื่องจากแต่ก่อนไม่มีโอกาสได้พบเจอเพราะไม่กล้าเดินทาง ก่อนที่ยังไม่ได้บัตร รู้สึกว่าหากตายก็ตายอย่างสูญเปล่า ตายแบบไม่มีสัญชาติ แต่ตอนนี้ถ้านึกถึงบั่นปลายชีวิตก็รู้สึกภูมิใจแล้วว่า ครั้งหนึ่งได้เป็นคนไทยเต็มตัว

157969589298

ขณะเดียวกัน นายอาเหล่ งัวยา วัย 81 ปี อาชีพทำการเกษตร ชาวบ้านเฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีที่เกิดบนแผ่นดินไทยแต่ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติ ยืนยันว่าตนเกิดที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่มาปักหลักอยู่ในหมู่บ้านเฮโก ที่ผ่านมา ในปี 2534 มีหลักฐานอยู่ในการสำรวจโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา แต่ในปี 2546 กรมปกครองสำรวจอีกครั้ง แล้วระบุให้เป็นผู้ไร้สัญชาติ รู้สึกเสียใจมาก ที่ตนเองยังไม่ได้สัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ในขณะที่เพื่อนและพี่น้องของตนหลายคนได้สัญชาติไปแล้ว ซึ่งตนก็ไม่รู้สาเหตุว่าทำไม