'ทีจี' ชง 'คมนาคม' มี.ค.นี้ รื้อแผนจัดซื้อฝูงบิน

'ทีจี' ชง 'คมนาคม' มี.ค.นี้ รื้อแผนจัดซื้อฝูงบิน

“บินไทย” รื้อใหญ่แผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ ชูโมเดลนำเครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่ หวังลดต้นทุนและค่าเสื่อม แก้ปัญหาขายเครื่องบินเก่าไม่ได้ เตรียมถก “กรมบัญชีกลาง” แก้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง คาดชงแผนให้ “คมนาคม” ภายใน มี.ค.นี้

การจัดหาฝูงบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาท สะดุดมาตั้งแต่ปี 2561 โดยการบินไทยถูกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปปรับแก้แผนการจัดหาเครื่องบินมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนจัดหาเครื่องบินใหม่อยู่ระหว่างเร่งปรับรายละเอียดบางส่วนของแผนให้สอดคล้องกับ สถานะทางการเงิน สถานการณ์แข่งขันของธุรกิจการบิน และภาพรวมของธุรกิจการบินไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะสามารถสรุปแผนจัดหาเครื่องบินให้แล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการการบินไทยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารได้นำเสนอความคืบหน้าในการจัดทำแผนจัดหาเครื่องบินในเบื้องต้นให้คณะกรรมการการบินไทยพิจารณารับทราบไปแล้ว 1 ครั้ง แต่จะต้องนำแผนกลับมาปรับแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการขายเครื่องบินใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยมักจะถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าขายเครื่องบินเก่าที่ปลดระวางไม่ได้ และใช้เวลาในการขายนานจนสร้างภาระค่าเสื่อมราคาสะสมจำนวนมากให้กับบริษัท

สำหรับแนวทางการปรับแก้แผนจัดหาเครื่องบินใหม่นี้ การบินไทยมีเป้าหมายที่จะต้องทำแผนขายเครื่องบินให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการการบินไทยเห็นภาพรวมของการจัดหาและขายเครื่องบินว่าสอดคล้องกันอย่างไร

โดยเบื้องต้น การบินไทยจะปรับแผนการขายเครื่องบินที่ปลดระวางใหม่ทั้งหมด ใช้วิธีการแลกเครื่องบินเก่า หรือเครื่องที่ปลดระวางรอการขาย กับเครื่องบินใหม่ที่เตรียมจัดหา เพื่อให้การซื้อและขายเครื่องบินทำได้เร็วขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นแนวทางช่วยลดภาระค่าเสื่อมราคาของเครื่องบินเก่าที่จอดรอการขายเป็นเวลานานด้วย

นายสุเมธ กล่าวว่า แนวทางการจัดหาเครื่องบินใหม่ของการบินไทย ต่อไปนี้จะต้องกำหนดแผนให้ชัดเจนว่าจะหาเครื่องบินใหม่ ต้องเกิดพร้อมกับการขายเครื่องบินเก่า หรืออาจจะเลือกใช้วิธีแลกเปลี่ยนเครื่องบินภายใต้สัญญาฉบับเดียว เพราะวิธีนี้จะทำให้การบินไทยบริหารจัดการฝูงบินได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเป็นแนวทางลดต้นทุน และภาระค่าเสื่อมด้วย 

หารือแก้ระเบียบจัดซื้อ

ทั้งนี้ เบื้องต้นฝ่ายจัดการของการบินไทยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและกรมบัญชีกลาง เพื่อขอแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ของรัฐวิสาหกิจ ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 เพื่อให้การบินไทยสามารถใช้วิธีการแลกเปลี่ยน หรือใช้วิธีการชำระราคาด้วยสิ่งของได้ด้วย นอกเหนือไปจากการใช้รูปแบบการซื้อและการขายเท่านั้น

“เป้าหมายแรกที่ตั้งไว้ เราจะแลกเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง จำนวน 17 ลำจากจำนวนเครื่องที่มีทั้งหมด 82 ลำ เพื่อแลกกับเครื่องบินใหม่ที่อยู่ในแผนการจัดหา โดยจะเริ่มแลกได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จนถึงปี 2567 หรือภายในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายสายการบินในโลกใช้วิธีการแลก หรือแม้กระทั่งกองทัพของไทยก็เคยใช้วิธีนี้ในการแลกรถเก่ากับรถใหม่ ดังนั้นเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้”นายสุเมธ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินปลดระวางที่รอการขายรวม 16 ลำวงเงินราว 4 พันล้านบาท รวมทั้งในช่วงปลายปีนี้การบินไทยจะมีการรับมอบเครื่องบินเช่า โบอิ้ง777-300 ER จำนวน 2ลำ จากที่เช่าทั้งหมด 3 ลำเข้ามาเสริมธุรกิจเนื่องจากปีหน้าสมาชิกสหภาพยุโรปจะมีการบังคับใช้ระเบียบใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการบิน หากการบินไทยไม่เช่าเครื่องแบบใหม่มาบินจะทำให้เครื่องการบินไทย ไม่สามารถบินเข้ายุโรปได้ ส่งผลให้ต้องเร่งจัดหาด้วยการเช่ามาใช้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการในเส้นทางยุโรป

สำหรับการจัดหาฝูงบินใหม่จำนวน 38 ลำ ที่การบินไทยเคยวางแผนไว้และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการบินไทยไปก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นแผนจัดหาระหว่างปี 2562-2569 วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 156,169 ล้านบาท ซึ่งการจัดหาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2562-2567 จำนวน 25 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 78,614 ล้านบาท ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้าง พิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-375 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ

และปี 2563-2569 จำนวน 13 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 77,555 ล้านบาท เพื่อทดแทนการปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส A380-800 และเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER