ผู้เชี่ยวชาญจริยธรรมสื่อ แนะ คพ. ทบทวนทักษะการสื่อสารภาวะวิกฤติ หลังโซเชียลรุมถล่ม

ผู้เชี่ยวชาญจริยธรรมสื่อ แนะ คพ. ทบทวนทักษะการสื่อสารภาวะวิกฤติ หลังโซเชียลรุมถล่ม

ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมแนะรัฐเปลี่ยนตัวอธิบดี

ุโดย นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้โพสต์เฟสบุ๊คแนะนำการสื่อสารสาธารณะในภาวะวิกฤติ หลังจากที่โลกออนไลน์ได้แชร์คลิปคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่ให้สัมภาษณ์ต่อ นายสุทธิชัย หยุ่น ทาง Facebook liveเมื่อวันที่ 20 ม.ค. โดยมีเนื้อหาลดทอนความรุนแรงของฝุ่นพิษและผลกระทบทางสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน อาทิ การออกมาให้ข่าวหรือโพสต์ว่าเลือดกำเดาออกหรือเกิดตุ่มบนผิวหนังเพราะฝุ่นเป็นเรื่องดราม่า การไอเกิดจากอาการหวัด ไม่ใช่ฝุ่น และนักวิชาการหรือแพทย์บางคนที่ออกมาเปิดเผยมีประโยชน์แอบแฝง เป็นต้น

โดยนายบรรยงค์กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษโดยตรง ส่วนความเห็นของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ไม่ว่าจะใช่หรือไม่ใช่ก็ตาม ขณะนี้ทวนความรู้สึกของประชาชนผู้รับสาร ซึ่งเห็นว่านี่คือเรื่องใกล้ตัวเขามากที่สุด 

นายบรรยงค์กล่าวว่า เมื่อผู้รับผิดชอบโดยตรงมีท่าทีไปในทางตรงกันข้ามกับความวิตกกังวลและห่วงใยในสุขภาพของประชาชน การสื่อสารนี้ จึงส่งผลในทางลบ ไม่ว่าเรื่องที่ให้สัมภาษณ์จะเป็นข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม 

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหารจบมาทางวนศาสตร์และเติบโตในชีวิตราชการที่กรมป่าไม้ แต่อยู่ที่เมื่อเป็นผู้บริหารแล้ว ต้องมีวิธีบริหารจัดการในงานที่รับผิดชอบ และจิตวิทยาการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารในยามวิกฤต, นายบรรยงค์กล่าว

“โปรดทบทวนวิธีการสื่อสารของท่านกับสาธารณะ” นายบรรยงค์กล่าว พร้อมนิดแฮชแทคถึงกรมควบคุมมลพิษ

ทาวด้านทนายความด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ตามที่โลกออนไลน์ได้แห่แชร์คลิปคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่ให้สัมภาษณ์ต่อ นายสุทธิชัย หยุ่น ทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และภูมิรู้ของคนระดับอธิบดีได้เป็นอย่างดี ซึ่งนายศรีสุวรรณกล่าวว่า เหมาะที่จะทำหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมากกว่าที่จะมาทำหน้าที่เป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 

เพราะกรณีฝุ่นควันพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้นใน กทม.และปริมณฑล ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นซ้ำมาทุกปี แต่กรมควบคุมมลพิษยังคลานเตาะแตะในการเตรียมการและการป้องกันปัญหาในการเสนอมาตรการต่อผู้บังคับบัญชาที่รวดเร็ว ฉับไวและประสานการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด, นายศรีสุวรรณกล่าว พร้อมยกสาเหตุปัญหาหลักคือการเผาอ้อย ในยณะที่ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาถูกมองว่าเบาหวิว

“ถ้าฝุ่นยังไม่อันตรายทำไม กทม.จึงต้องสั่งปิดโรงเรียน 437 โรงเสียล่ะ” นายศรีสุวรรณกล่าว 

 

นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว ถึงเวลาแล้วที่ รมว.ทส. ควรที่จะต้องเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเสียโดยเร็ว โดยเสนอไปยังท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเสีย แล้วนำคนที่มีวิสัยทัศน์และทำงานรวดเร็วมาแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในขณะนี้โดยเร็ว จึงจะได้เสียงชมจากประชาชน