9 แนวทาง 'ซ่อม' บาท อย่างเป็นรูปธรรม

9 แนวทาง 'ซ่อม' บาท อย่างเป็นรูปธรรม

ส่อง 9 แนวทางซ่อมค่าเงินบาท หากทำได้จะสามารถแก้ปัญหาค่าเงินบาทได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน มาดูกันว่าตรงไหนคือจุดอ่อน ตรงไหนต้องกำจัดปรับแก้ให้ดีขึ้น

เดิมที ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนภาคจบของ 10 คำทำนายในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ด้วยประเด็นค่าเงินบาทร้อนแรง และส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเสนอของผู้เขียนโดยตรง จึงขออนุญาตนำเสนอ 9 แนวทางที่จะแก้ปัญหาค่าเงินบาท และโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระยะยาวได้ ดังนี้

1.ภาครัฐต้องเปลี่ยน Mindset เพราะปัญหาค่าเงินบาทแข็ง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากความผิดพลาดของนโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก อาการบาทแข็ง เงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง การลงทุนต่ำ ความสามารถในการแข็งขันลดลง เป็นกลุ่มปัญหาที่เกิดจากรากเหง้าเดียวกันทั้งสิ้น คือ แนวนโยบายที่อนุรักษ์นิยมและคำนึงถึงเสถียรภาพจนเกินไป รวมถึงไม่มีการพิจารณาปัญหาเป็นองค์รวม จึงต้องมีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ถ้าเพียงคิดแต่ว่าปัญหาค่าเงินบาทเป็นปัญหาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพียงองค์กรเดียว ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้

2.ธปท.ควรศึกษาความสัมพันธ์ของเงินเฟ้อในไทย ว่าเกิดจาก Demand pull หรือจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงขึ้นทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมี ดังเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันกับเงินเฟ้อไทย ที่อยู่ในระดับสูงถึง 60-70% บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อไทยส่วนใหญ่เป็น Cost push ทั้งสิ้น ซึ่งนั่นแปลว่า การใช้ดอกเบี้ยนโยบายมาคุมเงินเฟ้อที่เป็นผลจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นความคิดที่ผิด ต้องคุมที่อัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันที่เป็นปัจจัยการผลิตและการขนส่งที่สำคัญ เมื่อใดที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น บาทก็จะต้องแข็งเพื่อ Offset และทำให้เงินเฟ้อไม่ขึ้นมาก แต่เมื่อใดที่ราคาน้ำมันถูก บาทก็สามารถอ่อนได้

3.สภาพัฒน์หรือ สศช. ควรศึกษาความสัมพันธ์ของภาคส่วนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมด (โดยเฉพาะการท่องเที่ยว) ในเชิงจุลภาคเนื่องจากประเทศไทยเป็น Small-open economy การส่งออกทั้งสินค้าและบริการเป็นแหล่งรายได้หลักของไทย (กว่า 70% ของ GDP) หากรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวรูปเงินบาทดีขึ้น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องก็จะดีขึ้น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า รายได้ของภาคเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยรวมไม่น้อยกว่า 85% (ส่งออกสินค้า 70% ของเศรษฐกิจไทย ส่งออกบริการที่รวมการท่องเที่ยว 15%) 

4.กระทรวงการคลัง ควรเสนอกฎหมายยกเลิกการยึดเป้าหมายเงินเฟ้อในการทำนโยบายการเงิน และหันไปใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนแทนโดยหากอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญทั้งด้านเสถียรภาพราคา (คุมเงินเฟ้อได้) และการเติบโตเศรษฐกิจ (เพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับรายได้การส่งออกสินค้าและบริการในรูปเงินบาท) อัตราแลกเปลี่ยนก็ควรเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเงิน แทนที่จะไปยึดเป้าหมายเงินเฟ้อโดยใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ เนื่องจากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา การใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการทำนโยบายการเงินนั้นไม่สามารถทำให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายได้ แต่ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

5.ธปท. ควรปรับเปลี่ยนเป้าหมายนโยบายการเงินจากการผลักดันให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% เพียงเป้าหมายเดียว (แต่ไม่สามารถบรรลุได้ เนื่องจากมีเป้าหมายอื่น ๆ ทับซ้อนและไม่ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เป้าหมายการคุมหนี้ครัวเรือน เป้าหมายการดำรงเงินกองทุนของสถาบันการเงินต่อสินทรัพย์เสี่ยง เป็นต้น)เป็น 3 เป้าหมายชัดเจน คือ (1) ดัชนีค่าเงินบาท (NEER หรือค่าเงินบาทไทยเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่ง) จะต้องอ่อนค่าลง 20% ใน 3 ปี (เพื่อให้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับค่าเงินภูมิภาค) (2) ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อใน 3 ปีข้างหน้าจะต้องอยู่ที่ 3% และ (3) หนี้ครัวเรือนกลับไปอยู่ที่ระดับ 70% ของ GDP ใน 3 ปี

6.ธปท. ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายการเงินโดยเพิ่มจำนวนคณะกรรมการจาก 7 เป็น 10 ท่าน โดยในอีก 3 ท่านคือ (1) ผู้ทรงคุณวุฒิในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (2) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และ (3) นักวิชาการอิสระ โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการนโยบายการเงินคือ ผลักดันเป้าหมายนโยบายการเงินใหม่ให้ได้ตามเป้า

7.กระทรวงการคลังควร ปรับ พรบ. วินัยการเงินการคลังโดยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนดังนี้ (1) งบลงทุนจะต้องมีสัดส่วนเกิน 25% ของงบประมาณรัฐ ตามกรอบความยั่งยืนการคลัง (2) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุน จะต้องได้ 90% ของงบประมาณ ณ สิ้นปีงบประมาณ (3) มีการตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในกรอบของคณะรัฐมนตรี และให้สศช. นำเสนอวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการผลักดันสัดส่วนการลงทุนภาครัฐต่อ GDP จาก 6% เป็น 10% ใน 3 ปีข้างหน้า

8.สศช.ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ควรนำเสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการขนส่งทั้งแผนระยะยาว 3 ปี และแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน 1 ปี โดยเน้นโครงการที่มีแผนงานไว้อยู่แล้ว เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ สถานีขนส่งสินค้า Motorway และท่าเรือ และให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงบประมาณ นำเสนอแผนการในการระดมทุน โดยให้อยู่ในแนวคิดที่ว่าภาครัฐจะระดมทุนและดำเนินโครงการที่กระทรวงคมนาคมเสนอเองทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการผ่านการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อความรวดเร็ว ไม่ล่าช้า แต่ยังจะอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง (โดยหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของ GDP)

9.สศช. กระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ควรนำเสนอแผนที่เป็นรูปธรรมในการเปิดเสรีการค้า บริการ การเงินและเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเพิ่มสัดส่วนการเปิดเสรีในธุรกิจบริการ การเงิน และแรงงานมีฝีมือให้เป็นไปตามกรอบ ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS), Financial Sub-sectors Liberalization และ MRA on Architectural and Engineering services ที่ปัจจุบันล่าช้าเกินกว่ากรอบแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ผู้เขียนเชื่อว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน การผลักดันการลงทุนภาครัฐ และการเปิดเสรีต่าง ๆ จะเป็นส่วนเหนี่ยวนำให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนรวมของไทยเพิ่มขึ้น บัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง รวมถึงทำให้ภาคการผลิตไทยเกิดการแข่งขัน สามารถสร้างสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง ผู้ผลิตสามารถมีกำลังต่อรองด้านราคาได้มากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและเงินบาทอ่อนลงได้

หากทางการไทยสามารถดำเนินตามแนวทางที่เสนอแนะแล้วนั้น จะสามารถแก้ปัญหาค่าเงินบาทอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]