22องค์กรชูสมุทรสาครสีเขียว ระดมสมองแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5

22องค์กรชูสมุทรสาครสีเขียว ระดมสมองแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5

ปัจจุบันสมุทรสาครเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีประสบปัญหารุนแรงจากฝุ่นละออง PM2.5 เนื่องจากความหนาแน่นของโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนมีจำนวนรวมเกือบ 6,000 แห่ง

อุตสาหกรรมที่เป็นส่วนสำคัญของปัญหามลพิษอากาศและฝุ่น ได้แก่ โรงงานหล่อหลอมโลหะและอโลหะ โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก โรงงานสิ่งทอ โรงงานกระดาษ โรงงานคัดแยกและฝังกลบของเสีย โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรม โรงกลั่นปิโตรเลียม และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงงานต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมันเตา น้ำมันใช้แล้ว และฟืน รวมถึงการเผาในที่โล่งต่างๆคือ “โครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อสุขภาวะองค์รวม” ซึ่งริเริ่มโดย

ล่าสุดมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ จากการสนับสนุนงบประมาณของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ริเริ่ม“โครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อสุขภาวะองค์รวม”ให้เป็นพื้นที่นำร่องของประเทศในการแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และเชื่อมโยงความรู้จากสถาบันต่างๆ เข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อให้จังหวัดสมุทรสาครมีการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาชนมีความปลอดภัยและมีสุขภาวะดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตและเป็นกำลังหลักที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครเป็นหนึ่งในกลุ่มจังหวัดที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนเมืองที่ขาดการจัดวางผังเมืองที่ดีและขาดการควบคุมมลพิษที่มีการปล่อยจากโรงงานต่างๆ ตลอดเวลา จนทำให้แม่น้ำและลำคลองสาขาเน่าและส่งกลิ่นเหม็น พื้นที่ชายฝั่งและป่าชายเลนทรุดโทรมและมีการสะสมของสารอันตราย ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษอากาศที่ส่งผลคุกคามสุขภาพของประชาชนมาเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองสำคัญที่เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการขนส่งระหว่างภาคตะวันออก ภาคตะวันตก กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ด้วย ปัจจุบันถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของการจราจรและการขนส่ง จึงคับคั่งไปด้วยยานพาหนะประเภทต่างๆ และมีการก่อสร้างเพื่อขยายถนนสำหรับรองรับปริมาณการจราจรที่หนาแน่นต่อเนื่องมานาน สมุทรสาครเป็นจังหวัดขนาดเล็กแต่สถิติรถยนต์ทุกประเภทที่จดทะเบียนกับทางจังหวัดมีจำนวนสะสมรวมกันถึงปี 2557 สูง 237,801 คัน

รายงานค่าการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่า จังหวัดสมุทรสาครเป็นหนึ่งในพื้นที่ของประเทศไทยที่มีค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงเกินมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกไปเกือบ 4 เท่า ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยิ่ง โดยพบว่าค่าสูงสุดรายเดือนที่ คพ. เคยวัดได้อยู่ที่ 195 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร และจำนวนวันที่มีค่าเกินมาตรฐานเคยสูงต่อเนื่องนานถึง 41 วัน

ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในวัยประถมศึกษา ซึ่งอยู่ในวัยที่มีภูมิต่อต้านน้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลให้เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในระยะยาวได้ ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากฝุ่นละออง PM2.5 ที่เรามองเห็นเป็นหมอกควันขมุกขมัว แท้จริงแล้วเกิดจากการรวมตัวกันของฝุ่นและละอองสารเคมีที่มีขนาดเล็กมากโดยเฉพาะสารอันตรายที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ 

เช่น สารโลหะหนักอย่างตะกั่ว ปรอท และสารหนู ที่จะก่อให้เกิดโรคทางระบบประสาท, สารก่อมะเร็ง เช่น สารกลุ่มพีเอเอ็ช (polycyclic aromatic hydrocarbons: PAH) สารก่อการกลายพันธุ์ อย่างเช่นสารไดออกซิน (dioxin) นอกจากนี้ยังอาจจะมีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนร่วมอยู่ด้วยอีกหลายตัว เป็นต้น

ทั้งนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินงานโครงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อสุขภาวะองค์รวม (โครงการสมุทรสาคร สีเขียว) ระหว่างเดือนสิงหาคม 2562 – เดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและสถานประกอบการอาศัยอยู่ร่วมกันได้ 

โดยสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงการจัดการปัญหามลพิษและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการสร้างความร่วมมือของภาคีต่างๆ จากภาครัฐ เอกชน สถาบันวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนนโยบายการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งและการส่งเสริมการปรับปรุงสุขภาวะของประชาชนในระดับท้องถิ่น การลงนามความร่วมมือในการเฝ้าระวังฝุ่นละออง“พีเอ็ม 2.5” ของ 22 หน่วยงานในสมุทรสาคร

ดร.จุฑาทิพย์ มณีพงศ์ ผู้จัดการโครงการสมุทรสาครสีเขียว กล่าวว่า ในโอกาสของการจัดงานเสวนาเรื่อง “อากาศสะอาดเพื่อเยาวชนสมุทรสาคร” (Blue Sky for New Generation of Samut Sakhon) ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และโรงเรียนต่างๆ มาร่วมกันลงนาม “ความร่วมมือในการเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5” ของ 22 หน่วยงาน ที่อยู่ในอำเภอเมืองสมุทรสาคร เพื่อแสดงเจตนารมย์ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการเฝ้าระวังปัญหาพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่อง และแสวงหาทางในการลดปริมาณฝุ่นเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป