ผ่ามุมมอง 'เงินบาท' ผ่าน 'จิม วอล์กเกอร์' นักวิเคราะห์ค่าเงินในตำนาน

ผ่ามุมมอง 'เงินบาท' ผ่าน 'จิม วอล์กเกอร์' นักวิเคราะห์ค่าเงินในตำนาน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจกับ ดร.Jim Walker ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย Asianomics ซึ่งเดินทางมาเก็บข้อมูลประเทศไทย

ชื่อ Jim Walker อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูกันในปัจจุบัน แต่หากย้อนอดีตกลับไปปี 2538 ต้องบอกว่า ในแวดวงนักลงทุนไทย น้อยคนที่จะไม่เคยได้ยินชื่อ Jim Walker แห่งบริษัท Credit Lyonnais ในฐานะผู้เขียนบทความวิเคราะห์ค่าเงินบาท ว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะต้องถูกกดดันให้ลอยตัวใน 2-3 ปีข้างหน้า จนถูก “หมายหัว” ในข้อหาจุดประกายการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลไทยในสมัยนั้น

ผมบอก ดร. Jim Walker ว่า สิ่งที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังปวดหัวมากที่สุดในขณะนี้ คือ ค่าเงินบาท ที่เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในรูปของดัชนีค่าเงินบาทแล้ว ได้ขยับกลับไปเท่ากับระดับเดียวกันกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แถมไม่มีทีท่าจะอ่อนลงง่ายๆ แม้จะมีหลายสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ค่าเงินบาทได้แข็งเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งผมอยากทราบความเห็นของเขาในฐานะผู้ที่ติดตามเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาทมาอย่างยาวนาน สรุปความได้ ดังนี้

ประการแรก เขาบอกว่า แม้ดัชนีค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับเดียวกัน และการส่งออกสินค้าหดตัวเหมือนกันแต่บริบทในปัจจุบันและในปี 2540 แตกต่างกันมาก โดยในช่วงก่อนปี 2540 ไทยมีการใช้จ่ายเงินตราต่างประเทศเกินตัว สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัด (ส่วนต่างระหว่างรายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวกับรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการ) ที่ติดลบ ทำให้นักลงทุนและเจ้าหนี้ต่างประเทศไม่มั่นใจในค่าเงินบาทและเศรษฐกิจไทย ขณะที่ในปัจจุบัน ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นบวกติดต่อกันมาหลายปี และเงินสำรองระหว่างประเทศมีมากกว่าช่วงปี 2540 หลายเท่าตัว

ประการที่สอง การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นไปตามธรรมชาติ จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูงต่อเนื่อง และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับในช่วงสองสามปีก่อนหน้า ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งโดยปรกติแล้ว ค่าเงินบาทมักจะเคลื่อนไหวผกผันกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ แข็ง บาทก็จะอ่อน ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ อ่อน บาทก็จะแข็ง

ประการที่สาม อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในปีที่แล้วถือว่าผิดปรกติ โดยนับจากต้นปีถึงสิ้นปี ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก และไม่สอดรับกับภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลงแรง

ประการที่สี่ ดร. Jim Walker เห็นว่า ปัญหาที่ไทยประสบอยู่ตอนนี้ เกิดจากการที่กลไกทางเศรษฐศาสตร์ไม่ทำงาน โดยตามทฤษฎีแล้ว ค่าเงินที่แข็งขึ้นควรนำไปสู่การเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาพร้อมกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปช่วยลดขนาดของดุลบัญชีเดินสะพัด และการแข็งค่าของเงินบาทลงโดยอัตโนมัติแต่ในกรณีของไทย สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้น เหมือนกับมีความหนืด (rigidity) อยู่ในระบบเศรษฐกิจ

จริงอยู่ ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก แต่ประเด็นคือ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำอย่างยาวนานมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า ทั้งๆที่ไทยมีศักยภาพมากในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค CLMVT แถมดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งเขาสงสัยว่า เป็นเพราะภาคธุรกิจไทยไม่มั่นใจในการนำพาเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ที่โดยพฤตินัยอยู่มาห้าปีกว่าแล้ว ทำให้ไม่กล้าลงทุน

ประการที่ห้าและประการสุดท้าย สำหรับการแก้ปัญหาบาทแข็ง ดร. Jim Walker มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว การปรับลดลงอีกไม่น่าจะช่วยได้มาก ขณะที่การแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

การแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือ การลดความหนืดของระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ได้ทำงาน โดยรัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ เร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ลดปัญหาคอร์รัปชั่น และลดกฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการแข่งขันของภาคธุรกิจ เพื่อเอื้อ ease of doing business

ทั้งหมดนี้ คือ ทรรศนะต่อปัญหาค่าเงินบาทในปัจจุบันของนักวิเคราะห์ในตำนาน ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจสำหรับผู้ที่ติดตามเศรษฐกิจไทยทุกคนครับ