ปัจจัยลบรุมเร้า 'หุ้นปิโตรฯ' มรสุมไม่ได้จบแค่เทรดวอร์

ปัจจัยลบรุมเร้า 'หุ้นปิโตรฯ' มรสุมไม่ได้จบแค่เทรดวอร์

ช่วงปี 2562 ที่ผ่านไป "หุ้นปิโตรเคมี" เป็นกลุ่มที่ถูกกดดันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งจริงๆ แล้วภาพของการปรับตัวลงนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561

แรงกดดันสำคัญที่เกิดขึ้นมาจาก "ภาวะอุปทานล้นตลาด" (Oversupply) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีประเด็นในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เป็นปัจจัยลบที่ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งหลายปรับตัวลดลง

แม้ว่าการเจรจาสงครามการค้าในเฟสแรกจะลุล่วงไปได้ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2562 - ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ช่วยคลายความกังวลของการบริโภคและลงทุนทั่วโลก ส่งให้ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ราคา และอัตรากำไรที่ฟื้นตัว ทำให้กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มปิโตรเคมีกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้ง ซึ่ง บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า ภาวะอุปทานล้นตลาดจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของทั้งเกือบทุกผลิตภัณฑ์จากภูมิภาคเอเชีย ทำให้ความคืบหน้าของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ไม่เพียงพอที่จะชดเชยทั้งหมด

ไม่เพียงแค่เรื่องของสงครามการค้าเท่านั้น อีกประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงขึ้นมา และกดดันให้หุ้นอย่าง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ร่วงลงมากว่า 9% ขณะที่บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ร่วงเฉียด 2% ในวันทำการล่าสุด คือ การที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้พลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลก ตั้งเป้าที่จะลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลง 30% ภายในปี 2568

เบญจพล สุทธิ์วนิช นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ มองว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันราคาหุ้นให้ปรับตัวลดลงแรงในวันนี้ แต่ในเชิงพื้นฐานแล้ว สัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์กลุ่มพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งของ PTTGC อยู่ที่ประมาณ 5-7% เท่านั้น และบริษัทก็มีแผนที่จะเลิกหน่วยผลิตนี้ภายในปี 2565 อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม PTTGC และบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีรายอื่นๆ ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่จำนวนมากในช่วงปี 2562 – 2563 นี้

“โดยรวมแล้วยังคงให้น้ำหนักกลุ่มปิโตรเคมีต่ำกว่าตลาด ถึงแม้เทรดวอร์จะคลี่คลาย แต่แนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงต่ำอยู่ อย่างกลุ่มอะโรแมติกส์ ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ก็ลดลงประมาณ 10 – 20% รวมถึง HDPE ก็ลดลงราว 11%”

ด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มปิโตรเคมี “ต่ำกว่าตลาด” เนื่องจากทิศทางของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยเฉพาะ HDPE ที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี แต่เริ่มมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อทิศทางราคาPET ในปี 2563 ที่คาดมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วและมากกว่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่นๆ

ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2562 ราคาหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีปรับเพิ่มขึ้นและโดดเด่นกว่าดัชนี SET ซึ่งเรามองว่าเป็นเพียง sentiment ระยะสั้นเท่านั้น

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ Olefins ส่วนต่างราคายังไม่ผ่านจุดต่ำสุด และอาจจะเผชิญกับวัฏจักรขาลงไปอีก 1-2 ปี ด้วย 2 เหตุผลหลัก คือ 1) จากการศึกษาอดีตตั้งแต่ปี 2539 พบว่าช่วงที่เป็นวัฏจักรขาลง 2 ครั้งนั้น HDPE-naphtha spread จะอยู่ในระดับต่ำไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยครั้งนี้คาดว่าจะในระดับต่ำราว 250-300 ดอลลาร์ต่อตัน และ 2) ข้องมูลปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนยังเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น หุ้นอย่าง SCC และ PTTGC ซึ่งมีความสัมพันธ์กับราคาปิโตรเคมีสูงถึง 70% และ 60% ตามลำดับ ราคาหุ้นจะถูกกดดันให้ปรับตัวได้แย่กว่าตลาดในปีนี้

ทางด้านราคาของผลิตภัณฑ์ PET จะฟื้นตัวปี 2563 หลังราคาร่วงลงจาก 1,200 ดอลลาร์ต่อตัน มาสู่ระดับ 800 ดอลลาร์ต่อตัน นับว่าเป็นระดับต่ำสุดใน 30 ปี ด้วยภาวะที่อุปสงค์และอุปทานมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ที่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยราคาหุ้น IVL กับราคา PET มีความสัมพันธ์สูงถึง 83%