'ทีมกรุ๊ป' ลุยงานอีอีซี เร่งศึกษาเมืองการบินอู่ตะเภา

'ทีมกรุ๊ป' ลุยงานอีอีซี เร่งศึกษาเมืองการบินอู่ตะเภา

"ทีมกรุ๊ป" เร่งศึกษาโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก คาดได้ผลสรุปรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา 50 กิโลเมตร การสร้างเมืองใหม่ ก.พ.นี้

ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า  บริษัทฯ ได้ติดตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งคาดว่าปี 2563 จะมีการลงทุน 8 โครงการ ที่สำคัญ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงอู่ตะเภา – ระยอง ระยะทาง 40 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 3.5 หมื่นล้านบาท 

2.โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงระยอง – จันทบุรี – ตราด อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ 

3.โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท 

4.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่รัฐลงทุนเอง มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมูล 

5.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ร่วมลงทุนกับเอกชน มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท 

6.โครงการสนามบินอู่ตะเภาส่วนงานศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 

7.โครงการสนามบินอู่ตะเภา ส่วนงานทางวิ่ง 2 มูลค่า 2 แสนล้านบาท และ 8.โครงการสนามบินอู่ตะเภาส่วนงานเอกชนร่วมลงทุนได้แก่อาคารผู้โดยสารและอาคารประกอบ

สำหรับโครงการดังกล่าว บริษัทฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาและออกแบบ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภา ส่วนงานทางวิ่ง 2 และโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงระยอง – จันทบุรี – ตราด รวมทั้งยังได้รับงานที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยจะเน้นในโครงการการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก

157961256084

ทั้งนี้ อีอีซีหัวใจหลักอยู่ที่การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา ซึ่งหากการประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภาสำเร็จได้ผู้รับเหมา ก็จะช่วยให้โครงการลงทุนต่างๆ รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ได้เร็วขึ้น รวมทั้งจะเกิดชุมชนเมืองใหม่ๆในพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี

โดยในขณะนี้ บริษัทฯ ได้เข้าไปร่วมศึกษาการพัฒนาพื้นที่เมืองการบินที่มีรัศมีโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา 50 กิโลเมตร ซึ่งจะเกิดการกระจายการพัฒนาเป็นจุดๆ เริ่มตั้งแต่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม และพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเมืองใหม่ขึ้นมาหลายแห่ง และเชื่อมโยงกับพื้นที่พัฒนาใหม่ๆรอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ได้แก่ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา รวมทั้งในพื้นที่ 15 Node ที่จะพัฒนาเป็นแห่งชุมชนใหม่ๆ

ในพื้นที่ อีอีซี จะเกิดแหล่งพัฒนาชุมชนเมืองใหม่ๆเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่จะเกิดเมืองใหม่สมาร์ทซิตี้หลายแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงฉะเชิงเทราในรัศมี 500 เมตรจะเป็นพื้นที่ขุมทอง ซึ่งจะรองรับประชาชนทั้งที่จะไปทำงานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบิน และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งสามารถเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เช่น สีลม สาธร ที่สามารถใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาได้ภายใน 1 ชั่วโมง

“ผลการศึกษาพื้นทีเมืองการบินภาคตะวันออกจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ภายในเดือน ก.พ. นี้ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงรายละเอียดในการพัฒนาเมืองและชุมชนต่างๆในพื้นที่ อีอีซี ชัดเจนขึ้น โดยพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) พื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซีไอ) พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และสนามบินอู่ตะเภาที่มีพื้นที่กว่า 4 พันไร่ ที่จะมีบุคลากรในธุรกิจการบินเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดชุมชนใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง”

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาเมืองใหม่ มองว่ามาตรการดึงดูดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังมีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ ที่ให้สิทธิประโยชน์มากกว่า ดังนั้นจึงควรจะปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เพื่อชิงความได้เปรียบให้เหนือกว่าประเทศอื่น เพราะหากแข่งขันไม่ได้ไทยก็จะเสียโอกาสไปมาก

ส่วนการศึกษาโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งในช่วงสนามบินอู่ตะเภาถึงตัวเมืองระยอง ที่จะขยายเพิ่มอีก 1 สถานีน่าจะอนุมัติก่อสร้างได้ภายในปีนี้ โดยผู้ที่ชนะการประมูลอาจจะเป็นกลุ่มซีพี ที่ได้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือกลุ่มอื่นก็ได้ ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อาจจะต้องเจรจาในเรื่องการเชื่อมต่อและการคิดค่าโดยสารบ้าง แต่ก็น่าจะผ่านไปได้ 

ส่วนโครงการต่อขยายจากระยองไปจันทบุรีและตราด จะเข้ามารองรับการขยายพื้นที่อีอีซีระยะต่อไปอีก 5 จังหวัด กำลังศึกษาว่าจะคุ้มต่อการก่อสร้างหรือไม่ ในช่วงแรกอาจจะขยายไปถึงตัวเมืองจันทบุรีก่อน เพราะผู้โดยสารที่ไปในพื้นที่นี้อาจจะมีไม่มากส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการท่องเที่ยว จากนั้นค่อยขยายไปจนถึง จ.ตราด โดยพื้นที่ส่วนต่อขยายนี้ต่างจากในส่วนแรกที่เชื่อมพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้โดยสารมากกว่า

“รถไฟความเร็วสูงในช่วงระยอง – ตราด จำนวนผู้โดยสารจะโตช้าเพราะเป็นส่วนต่อขยายของอีอีซี จะมีผู้โดยสารเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว ต่างจากระยองที่มีทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมทำให้มีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า"

สำหรับรถไฟความเร็วสูงหากดูผลประโยชน์เรื่องค่าโดยสารอาจไม่คุ้ม ต้องศึกษาพื้นที่โดยรอบให้เอกชนมาลงทุนด้วยจึงจะทำให้เอกชนคุ้มต่อการลงทุน คาดว่าผลศึกษาทั้งหมดจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้