แนะทุกโรงเรียนใช้วิกฤตฝุ่นPMเป็นบทเรียนสำหรับเด็ก

แนะทุกโรงเรียนใช้วิกฤตฝุ่นPMเป็นบทเรียนสำหรับเด็ก

สพฐ.แนะโรงเรียนทุกแห่งใช้วิกฤติฝุ่นPM 2.5 เป็นโอกาสในการถอดบทเรียนปัญหาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ เน้นศึกษาปัญหาฝุ่นในแบบวิทยาศาสตร์ และคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหา พร้อมดูแลรักษาสุขภาพ

วันนี้ (21 ม.ค.2563) นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ที่พบว่าหลายพื้นที่ขณะนี้อยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความเป็นห่วงในเรื่องของสุขภาพของเด็กนักเรียน จึงได้ออกหนังสือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศให้แจ้งให้ทุกโรงเรียนปฎิบัติตามแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทาง สพฐ.ได้แจ้งไปก่อนหน้านี้

โดยให้ยึดดูแลความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ หากพบโรงเรียนได้อยู่ในเขตพื้นที่วิกฤตไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถสั่งการให้หยุดการเรียนการสอนได้เป็นเวลา 7 วัน และให้หาเวลาสอนเพิ่มเติมให้นักเรียนเนื่องจากขณะนี้ใกล้เวลาที่นักเรียนจะเข้ารับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และ สอบปลายภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2562

            

“ผมอยากให้โรงเรียนทุกแห่งใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการถอดบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ผมเชื่อว่าจะสร้างการรับรู้และทำให้ผู้เรียนตระหนักต่อปัญหาร่วมกันได้ง่ายกว่าปกติ เช่น เด็กนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่เน้นสอนด้านวิทยาศาสตร์ก็อาจจะสอนให้เด็กได้ศึกษาปัญหาฝุ่นในแบบวิทยาศาสตร์ และคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.

ส่วนโรงเรียนอื่น ๆ คุณครูอาจจะสอดแทรกให้เด็กได้คิดวิเคราะห์องค์ความรู้ของปัญหา และแนวทางการป้องกันร่วมไปถึงการดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้จะกลายเป็นโอกาสที่ดีให้ทุกคนได้เรียนรู้ต่อปัญหา และหาทางแก้ไขร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกโรงเรียนเฝ้าติดตามรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย ผ่านทางเว็บไซต์ http://air๔thai.pcd.go.th/webV๒/ และเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://www.pcd.go.th ทั้งนี้จะได้เข้าใจสถานการณ์ และสามารถเฝ้าระวังและดูแลนักเรียนได้อย่างสอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละวัน