'อดีตกรธ.' ไม่รู้ร่างกม.งบฯ 63 จะโมฆะหรือไม่ เชื่อปมนี้กระทบปชช.

'อดีตกรธ.' ไม่รู้ร่างกม.งบฯ 63 จะโมฆะหรือไม่ เชื่อปมนี้กระทบปชช.

“อดีตกรธ.” ไม่รู้ ร่างกม.งบฯ 63 จะโมฆะหรือไม่ เชื่อปมนี้กระทบปชช. เหตุงบลงพื้นที่ไม่ได้ ยอมรับเสียงวิจารณ์ รธน. คือกฎหมายการเมือง เตือนระวังปชช. เบื่อการเมือง หากละเลยปมสิทธิ เสรีภาพ ปชช.

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนา สิทธิเสรีภาพคนไทย ติดขัดตรงไหน จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ วุฒิสภา ว่า มาตรวัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่องค์กรภายนอกประเมินไทย คือ การพิจารณาองค์กรของรัฐใช้อำนาจอย่างถูกต้องเพื่อสร้างสมดุล เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้การพิจารณาคดีของศาล ด้านสิทธิเสรีภาพ ต้องเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ ด้วย ทั้งนี้ประเด็นสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  

ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถา เรื่อง ภาพรวมสิทธิและเสรีภาพของคนไทยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ใช้เป็นเกมการเมืองมากกว่าการให้สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ความเข้าใจดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เพราะความเข้าใจของคนในสังคมมีทั้งเชิงคุณค่าการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากใช้มาตรฐานเดียวตัดสิน จะตอบโจทย์ไม่ได้และอาจกลายเป็นปัญหา 

“มาตรฐานที่พูดถึง เช่น การรักษาความมั่นคงของประเทศ ของรัฐ ต้องตีความ แต่การตีความแต่ละยุค เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่เหมือนกัน รวมถึงสำนึกการอยู่ร่วมกันในสังคมไม่เหมือนกัน บางทีหากนำสิ่งที่ประเทศตะวันตกตีความ นำมาใช้บ้านเรา เพราะคิดว่าคนเหมือนกัน หากคิดแบบนั้นเขาคือชาวตะวันตก ไม่ใช่คนไทย เพราะบริบทของการถือคุณค่าว่า อะไรได้ หรืออะไรไม่ได้ ไม่ใช่ยึดตะวันตกเป็นแม่แบบทั้งหมด แต่ต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยด้วย โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพ ที่ซับซ้อนมากกว่าเรื่องระหว่างบุคคล” นายอุดม กล่าว 

นายอุดม กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดหลักประกันด้านสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยให้อำนาจติดตาม เร่งรัดฟ้องร้องรัฐได้ ทั้งนี้การพิจารณาประเด็นดังกล่าวต้องสร้างมาตรฐาน เช่น การจัดการศึกษาฟรี 12 ปี ต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช่ทำอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ อย่างไรก็ตามในการกำหนดหน้าที่ของรัฐ​ตนไม่สบายใจ เพราะต้องยึดกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐ  ทั้งนี้เรื่องทางการเมืองแม้จะพบการทะเลาะกัน แต่หน่วยงานต้องดำเนินงานด้านสิทธิ เสรีภาพของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ช่วง 5 ปีของการเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องติดตามการปฏิรูป เป็นความหวังของกรธ.​ต่อวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาต้องตรวจสอบและติดตามการปฏิรูปเพื่อร่วมสร้างผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เหมือนสภาเลือกตั้งที่ยึดติดกับพรรค 

“เรื่องสิทธิเสรีภาพ ต้องทำให้ดี เพื่อให้ประชาชนไม่เบื่อการเมือง หรือมีปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อชีวิตพื้นฐาน อย่าง ร่างกฎหมายงบประมาณที่ไม่รู้จะโมฆะหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะกระทบต่อวิถีชีวิต เพราะงบไม่ลงพื้นที่ โครงการต่างๆ ลงไม่ได้ แม้มีงบประมาณได้ต้องคิดว่า จะให้เป็นไปตามการปฏิรูปประเทศแค่ไหน และสร้างมาตรฐานให้ทุกพื้นที่ ทุกเงื่อนไขได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่” นายอุดม กล่าว