ส.ว. เดินหน้าลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ ไม่สนคำท้วง 'นิพิฎฐ์'

ส.ว. เดินหน้าลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ ไม่สนคำท้วง 'นิพิฎฐ์'

"วุฒิสภา" ยืนยันลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ บ่ายวันนี้ ไม่สนคำท้วง "นิพิฎฐ์" คืนร่างกม. หลังพบส.ส.กดบัตรแทนกัน ส่อทำร่างกม. เป็นโมฆะ "คำนูณ" มองยกคำวินิจฉัยคดีอื่นเทียบไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างกัน

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะประธานที่ประชุมได้เปิดให้ ส.ว. หารือต่อประเด็นที่ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยผลการตรวจสอบว่าในชั้นการลงมติวาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร พบ ส.ส.ใช้สิทธิ์บุคคลอื่นกดบัตรแสดงตนและออกเสียงแทน พร้อมเสนอแนะวุฒิสภาให้ส่งร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 คืนสภาฯ ก่อนลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ โดยมี ส.ว.​อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. หารือ

ภายหลังการหารือดังกล่าว นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.​ ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาา (วิปวุฒิสภา) สรุปประเด็นว่า นายพรเพชร วินิจฉัยในที่ประชุมและที่ประชุมยอมรับว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่มีมาตราใดให้สิทธิ์ ส.ว. ส่งร่างพ.ร.บ.งบฯ คืนไปยังสภาฯ เพราะในขั้นตอนเมื่อสภาฯ ส่งร่าง พ.ร.บ.งบฯ มายังวุฒิสภา ต้องเข้าสู่การพิจารณาภายใน 20 วันให้แล้วเสร็จ ไม่มีประเด็นอื่นที่จะยุติการพิจารณาได้ ยกเว้นสภาฯ จะเป็นผู้ขอคืนจากวุฒิสภา ดังนั้นเมื่อสภาฯ ไม่ได้ขอคืน วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จตามกระบวนการ และเมื่อวุฒิสภาลงมติเห็นชอบแล้ว ต้องส่งให้นายกฯ​โดยขั้นตอนนายกฯ ต้องรอการนำขึ้นทูลเกล้าไว้ 5 วันเพื่อให้สิทธิ ส.ส., ส.ว.หรือสมาชิกของรัฐสภา เข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ส่วนกรณีของร่างพ.ร.บ.งบฯ สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 144 แต่เป็นกรณีที่พบว่าสมาชิกได้ประโยชน์จากงบประมาณ ดังนั้นเมื่อกระบวนการที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถสรุปได้ วุฒิสภาต้องดำเนินการตามกระบวนการก่อน

นายคำนูณ กล่าวในความเห็นส่วนตัวต่อคำถามว่า ส.ว.มีอำนาจยับยั้ง ร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 และส่งคืนไปยังสภาฯ คือ การลงมติไม่เห็นชอบ ว่าไม่ใช่แนวทางของวุฒิสภา ซึ่งการลงมติของส.ว. ที่ทำได้เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น ต้องเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหา คือ ไม่รับร่างพ.ร.บ.งบฯ แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับเนื้อหา แต่เป็นเพียงกระบวนการกล่าวหาในชั้นของสภาฯ ทั้งนี้การหยุดพิจารณาและส่งคืนไปยังสภาฯ ตามการอนุมานที่สภาฯ กล่าวหานั้น ไม่สามารถทำได้จนกว่าองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน แต่หากยังไม่มีคำตัดสิน ถือว่ายังเป็นความถูกต้อง

“ที่มีผู้ยกเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีที่เคยเกิดก่อนหน้านี้ ต้องยอมรับว่าแต่ละคดีมีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากจะสรุปว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ขาด ไม่ใช่สภาฯ หรือวุฒิสภา ส่วนสภาฯ หรือวุฒิสภา หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง จะมีช่องทางดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งวุฒิสภานัดหมายจะลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ประมาณ 15.00 น.” นายคำนูณ กล่าว