กฟผ.เตรียมคลอด"ทีโออาร์"ติดตั้งโซลาร์ฯเขื่อนอุบลรัตน์ปี64

กฟผ.เตรียมคลอด"ทีโออาร์"ติดตั้งโซลาร์ฯเขื่อนอุบลรัตน์ปี64

กฟผ. คาดจัดทำร่าง “ทีโออาร์” หาผู้รับเหมาติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ขนาด 24 เมกะวัตต์ พร้อมเปิดประมูลในปี2564 หวังมูลค่าโครงการถูกลงกว่าเขื่อนสิรินธร

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนที่จะจัดทำร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไข(TOR) สำหรับเปิดประมูลหาผู้รับเหมาติดตั้ง(EPC) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ(Hydro-Floating Solar Hybrid) หรือ โซลาร์ลอยน้ำ ในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 24 เมกะวัตต์(MW) ภายในปี 2564 และคาดว่า จะเปิดประมูลได้ในปีเดียวกัน เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ภายในปี 2566 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP 2018)

โดยคาดหมายว่า การเปิดประมูลโครงการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งนับเป็นเขื่อนที่ 2 ของ กฟผ. ที่จะมีการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำผลิตไฟฟ้าในรูปแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ(ไฮบริด) จะได้มูลค่าโครงการที่ถูกลงตามผลการประมูลโครงการแรก ที่ทางกลุ่ม บี.กริม.ฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรประเทศจีน ชนะการประมูลไปในราคาต่ำมาก ประกอบกับเทคโนโลยีต่างๆ มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ต้นทุนอุปกรณ์ถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ หลังจากเขื่อนสิรินธร ได้ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ขนาด  45 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นโครงการไฮบริดที่มีขนาดใหญ่สุดในโลกจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือน ธ.ค.นี้แล้ว ก็คาดว่า จะทำให้ กฟผ.เห็นประสิทธิภาพการทำงานของเทคโนโลยีต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำไปใช้จัดทำ TOR เปิดประมูลเขื่อนอุบลรัตน์ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้และปรับปรุงเทคโนโลยีให้มีความสมาร์ทมากขึ้นด้วย

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ของ กฟผ.ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580(PDP 2018) จะมีกำลังผลิตติดตั้งรวม อยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ ใน 9 เขื่อน คือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนสิริกิติ์ แบ่งเป็น 16 โครงการ คาดว่า จะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563-2580