แนวโน้มคำวินิจฉัย อนาคตใหม่ 'ยุบ-ไม่ยุบ'

แนวโน้มคำวินิจฉัย อนาคตใหม่ 'ยุบ-ไม่ยุบ'

วันชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่ในคดียุบพรรคสำนวนแรก คือ คดีล้มล้างการปกครอง ที่เรียกกันว่า “คดีอิลลูมินาติ” ยิ่งใกล้วันพิพากษา กระแสยิ่งแรงว่า “ยุบแน่” แม้แต่แกนนำพรรคอนาคตใหม่เองก็ยังออกอาการ

วันนี้ ถือเป็นวันชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่ในคดียุบพรรคสำนวนแรก คือคดีล้มล้างการปกครอง ที่เรียกกันว่า “คดีอิลลูมินาติ”

คดีนี้ยิ่งใกล้วันพิพากษา กระแสยิ่งแรงว่า “ยุบแน่” แม้แต่แกนนำพรรคอนาคตใหม่เองก็ยังออกอาการ

ความจริงแล้ว คดีนี้มีโอกาสออกได้ 3 หน้า 3 แนวทางเหมือนคดีอื่นๆ ที่ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

แนวทางที่ 1 ยกคำร้อง แนวทางที่ 2 วินิจฉัยว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 สั่งให้หยุดการกระทำ (ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง) แนวทางที่ 3 วินิจฉัยแบบแนวทางที่ 2 แต่มองว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย มีโทษถึงยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 10 ปี หรือตลอดชีวิต

หากบีบ 3 แนวทางนี้เหลือแค่ 2 แนวทาง จะเข้าใจง่ายขึ้น คือ แนวทางแรก ยกคำร้อง อนาคตใหม่ไม่ผิด กับแนวทางที่ 2 อนาคตใหม่ผิด แต่จะมีโทษถึงระดับไหน ศาลรัฐธรรมนูญแค่สั่งหยุดการกระทำ หรือจะลามไปถึงยุบพรรคด้วย

อ่านข่าว-ลุ้นจุดเปลี่ยน ฝ่ายค้านวูบ '230'

ต้นทางของคดีนี้มาจาก ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า แกนนำพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรคมีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

เนื้อหามาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเปิดช่องให้ “ใครก็ได้” ไปยื่นคำร้องต่อศาล จริงๆ คือให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อน ถ้าอัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการ ก็ยื่นตรงต่อศาลได้ ซึ่งกรณีของ ณฐพรก็เป็นแบบนี้ คือยื่นอัยการสูงสุดก่อน เมื่ออัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน ก็ยื่นตรงต่อศาล

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ ณฐพร เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ปีที่แล้ว จากนั้นวันที่ 22 ธ.ค. ศาลก็มีมติ “ไม่เปิดไต่สวนพยาน” เพราะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว จากนั้นวันที่ 25 ธ.ค. ก็นัดวันอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งก็คือวันนี้ 21 ม.ค.2563

คำถามคือ แล้วโทษยุบพรรคมาจากไหน
คำตอบก็คือ โทษยุบพรรคมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68
ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว เนื้อหาเขียนไว้ชัดว่า
ถ้าการกระทำล้มล้างการปกครองเป็นการกระทำของพรรคการเมือง
ศาลรัฐธรรมนูญ “อาจสั่งยุบพรรค” ก็ได้

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สมมติว่าศาลเห็นว่าแกนนำพรรคอนาคตใหม่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองจริงตามที่ถูกกล่าวหา โทษตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ คือ “สั่งการให้เลิกการกระทำ” ที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองนั้น

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ไม่ได้ระบุโทษ “ยุบพรรค”เอาไว้ หากการกระทำล้มล้างการปกครองนั้นเป็นการกระทำของพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง

คำถามคือ แล้วโทษยุบพรรคมาจากไหน คำตอบก็คือ โทษยุบพรรคมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว เนื้อหาเขียนไว้ชัดว่า ถ้าการกระทำล้มล้างการปกครองเป็นการกระทำของพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ “อาจสั่งยุบพรรค” ก็ได้ นอกเหนือจากการสั่งให้หยุดการกระทำแล้ว ฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา 49 ไม่ได้เขียนเหมือนมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ก็แปลว่าความผิดนี้ไม่มีโทษยุบพรรค

คำถามต่อมาก็คือ แล้วทำไมหลายฝ่ายจึงเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบจากคดีนี้ คำตอบก็คือ เพราะ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ระบุโทษยุบพรรคเอาไว้ สำหรับพรรคการเมืองที่มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ก็เขียนไว้ชัดว่า ผู้ที่จะยื่นยุบพรรคในความผิดนี้ได้ ต้องเป็น กกต.เท่านั้น (คำว่าคณะกรรมการ หมายถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง) และเมื่อย้อนไปดูคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยคดีนี้ จะพบว่าเป็นการรับคำร้องของ ณฐพร โตประยูร เท่านั้น ไม่มีคำร้องที่ กกต.ยื่นเข้าไปให้ศาลพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่

ฉะนั้นเมื่อไม่มีการร้องเข้าไป ศาลจะสั่งยุบพรรค ซึ่งเป็นการสั่ง “เกินคำร้อง” ได้อย่างไร

สรุปง่ายๆ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตั้งคำถามแบบที่เราไล่เรียงมานี้ ผลที่ออกมาก็น่าจะ “ยกคำร้อง” พรรคอนาคตใหม่รอด ไม่โดนโทษอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าโอกาสโดนยุบจะกลายเป็นศูนย์ เพราะทั้ง กกต.และนักกฎหมายหลายคนก็เชื่อว่า มีช่องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ได้เหมือนกัน 

โดยมีเหตุผลสนับสนุนก็คือ การกล่าวหาว่าพรรคการเมืองใดใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และศาลต้องสั่งยุบพรรคนั้น ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องผ่าน กกต. เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานเอาไว้เมื่อปี 2556 เมื่อครั้ง ส.ส.และ ส.ว.จับมือกันยื่นยุบพรรคเพื่อไทย กรณีเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ (ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยไม่โดนยุบ แต่ศาลวางบรรทัดฐานว่า สามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลได้เลย)

แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่บรรทัดฐานเดิมยังคงอยู่

คำร้องของนายณฐพร อ้างถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ด้วย ไม่ได้อ้างถึงเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เท่านั้น

สรุปก็คือ ถ้างานนี้ศาลยังยืนยันบรรทัดฐานเดิมและวินิจฉัยควบ ทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 92 เรียกว่า “ม้วนเดียวจบ” พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ ทั้งหมดนี้ได้รู้กัน