'สมคิด' เร่ง ธปท.แก้บาทแข็ง หนุนนำทุนสำรองไปลงทุน

'สมคิด' เร่ง ธปท.แก้บาทแข็ง หนุนนำทุนสำรองไปลงทุน

“สมคิด”ถกคลัง-ธปท.สร้างสภาพคล่องระบบเศรษฐกิจ แก้ปัญหาบาทแข็ง หนุนแบงก์ชาตินำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน สั่ง คปภ.ผ่อนเกณฑ์กองทุนประกันลงทุนนอก เร่ง “เอ็กซิมแบงก์”เสริมมาตรการหนุนเอกชนนำเข้าสินค้าทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามงานเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนและการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ดูแลมาตรการการเงินและการคลัง ประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมธนาคารไทย วานนี้ (20 ม.ค.) ที่ประทรวงการคลัง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าว ได้หารือมาตรการสร้างสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนานกว่าคาด รวมทั้งหารือเกี่ยวกับมาตรการที่นำไปสู่การปล่อยสินเชื่อ

รวมทั้ง ที่ต้องมีการหารือกันในครั้งนี้ก็เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาด ขณะที่งบประมาณประจำปี 2563 ยังไม่ออกทำให้ยังไม่มีเงินเติมเข้าไปในระบบ เราต้องสร้างสภาพคล่องขึ้นมาในเศรษฐกิจเพิ่มเงินให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือแนวทางร่วมกันบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ และไม่แข็งค่าจนกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะประกอบด้วยการทำงานของหลายหน่วยงาน โดยขอให้ ธปท.ดูแลบริหารจัดการค่าเงินให้สอดคล้องกับภูมิภาค ร่วมกับการมีมาตรการเสริมอื่น ได้แก่ 

1.การให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณาอนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตนำเงินที่อยู่ในการบริหารไปลงทุนในต่างประเทศได้ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อเปิดทางให้มีเงินในประเทศไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น มีส่วนในการลดความกดดันของค่าเงินบาทได้ 

2.การให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) หามาตรการสนับสนุนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีการไปลงทุนต่างประเทศหรือมีการปรับเข้าเครื่องจักรเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้มีเงินไหลออกอีกทางหนึ่ง

3.สมาคมธนาคารไทยเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เปิดการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นเหมือนกับในอดีตที่เคยตั้งกองทุนระดมเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นเหมือนกับที่เคยมีการออกไปลงทุนในเกาหลีใต้ในช่วงที่ผ่านมา

4.การให้แนวทางกับ ธปท.พิจารณาหาทางนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้และเป็นไปตามกฎหมาย จากปัจจุบันที่ทุนสำรองส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในตราสารที่ความน่าเชื่อถืออยู่ระดับ AAA ทั้งนี้เพื่อให้ ธปท.มีผลตอบแทนสูงขึ้นไม่ต้องแบกรับส่วนต่างมากเกินไปเมื่อมีเงินไหลเข้า

“การดำเนินการตามแนวทางเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในครั้งนี้คงไม่ปิดประเทศที่จะทำให้ทางสหรัฐ เพิ่มจากจับตาประเทศไทย เพราะสหรัฐจะมีเกณฑ์ในการจับตาเรื่องนี้ โดยดูจากสัดส่วนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับจีดีพี สัดส่วนการเกินดุลกับสหรัฐ รวมถึงการเข้าแทรกแซงของ ธปท.แต่สิ่งที่เรากำลังทำคือการส่งเสริมให้มีเงินไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นที่จะทำให้สหรัฐกับตาเรา” นายกอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับระยะเวลาที่ภาครัฐจะต้องดำเนินมาตรการการเงินการคลังแบบผ่อนคลายนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยขนาดนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาด เห็นได้จากการกลับประมาณการของหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจที่มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดมาตรการออกมา เช่น ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการชิมช็อปใช้การเติมรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งครั้งนี้ก็มีมาตรการเพิ่มเติมแนวทางการดูแลบาทด้วย

“มาตรการครั้งนี้ คงดำเนินการไปก่อน 2-3 เดือนจากนั้นจะประเมินผลต่อเนื่องว่าสภาพคล่องในระบบดีขึ้นหรือยัง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วคงจะทบทวนมาตรการอีกครั้งหนึ่ง แต่คาดว่าปัญหาของเศรษฐกิจโลกคงใช้เวลาอีกพอสมควรในการคลี่คลาย มาตรการจากภาครัฐก็คงออกมาเป็นระยะๆ โดยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่นครั้งนี้ก็เป็นการประสานการทำงานระหว่างนโยบายการเงินกับการคลังซึ่ง นายสมคิด รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าจะต้องออกมาพร้อมกันและร่วมกันในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากหลายด้าน” นายกอบศักดิ์กล่าว

เล็งติดตามผลผ่อน“แอลทีวี”

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า มีการหารือยมาตรการที่ ธปท.จะปรับสัดส่วน Loan to Value (LTV) สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ผู้ซื้อบ้านทั้งหลังแรกและหลังที่ 2 ซึ่งจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาอยู่มีสถานการณ์ดีขึ้น โดยครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นแล้วจะติดตามว่าได้ผลหรือไม่เพื่อนำมาหารือกับ ธปท.อีกครั้ง

นอกจากนี้ นายสมคิด สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจเร่งพิจารณาในประเด็นการลดภาระดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ยืมที่เป็นประกอบการเอสเอ็มอีซื้อขนาดนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาแนวทางการคืนภาษีที่ต้องคืนให้กับเอสเอ็มอีอยู่แล้ว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมถึงการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับทางผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปให้เร็วที่สุด