'คลัง' เล็งขยายเวลายื่นภาษีบุคคล ถึงสิ้น มิ.ย.หวังบรรเทาภาระ

'คลัง' เล็งขยายเวลายื่นภาษีบุคคล ถึงสิ้น มิ.ย.หวังบรรเทาภาระ

“คลัง” จ่อขยายเวลายื่นชำระภาษีบุคคลธรรมดาออกไปอีก 3 เดือน โดยสิ้นสุดมิ.ย.จากเดิมต้องยื่นภายในมี.ค. หวังบรรเทาความเดือนร้อนประชาชน ย้ำการขยายเวลาไม่กระทบสภาพคล่องรัฐ เหตุมีเงินคงคลังเพียงพอ

กระทรวงการคลัง เตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนและภาระของประชาชน โดยหนึ่งในแนวทางที่อยู่ระหว่างพิจารณา คือ การขยายเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป 3 เดือน จากเดิมที่ต้องยื่นชำระภาษีภายในเดือนมี.ค. ก็จะขยายออกไปเป็นภายในสิ้นเดือนมิ.ย.แทน 

แหล่งข่าวกล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระความเดือดร้อนของผู้เสียภาษี กระทรวงการคลังจึงเสนอให้ขยายระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปอีก 3 เดือน โดยในส่วนคนที่ยื่นแบบภาษีแล้วได้รับคืนภาษี ก็จะได้รับคืนภาษีที่เร็วขึ้น ส่วนในรายที่คาดว่า จะเสียภาษีหรือเสียภาษีเพิ่ม สามารถไปยื่นภาษีได้ภายในเดือนมิ.ย.เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็เห็นว่า เป็นมาตรการที่น่าสนใจ ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้การขยายเวลาการชำระภาษีเงินได้ดังกล่าว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนที่มีรายได้เกี่ยวเนื่องกับการรับงานภาครัฐ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ไม่สามาถดำเนินการได้ เนื่องจากงบประมาณปี 2563 ยังไม่ผ่าน และถึงแม้งบจะผ่านในเดือนก.พ. แต่กว่าจะตั้งเบิกจ่ายได้ก็ราวเดือนเม.ย. ดังนั้นการขยายเวลาจึงช่วยบรรเทาภาระคนกลุ่มนี้ด้วย

สำหรับในรายที่มีภาระภาษีจ่าย ตามปกติแล้ว สามารถที่จะขอผ่อนชำระต่อกรมสรรพากรได้เป็นเวลา 3 เดือนนับจากวันที่กรมสรรพากรกำหนดให้ชำระภาษี ดังนั้น หากกระทรวงการคลังกำหนดให้เลื่อนระยะเวลาการจ่ายภาษีดังกล่าวออกไปอีก 3 เดือน ผู้ที่มีภาระภาษีก็จะสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้อีก 3 เดือนเช่นเดิม กล่าวคือ หากยื่นแบบชำระภาษีในเดือนมิ.ย.สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้จนถึงเดือนก.ย. เป็นต้น

ทั้งนี้ หากมองในแง่ผลกระทบที่มีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาล กระทรวงการคลังได้พิจารณาเบื้องต้นว่า การเลื่อนระยะเวลาการชำระภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังรัฐบาล เนื่องจาก ขณะนี้ ระดับเงินคงคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง เพียงพอต่อการบริหารจัดการด้านรายจ่ายของรัฐบาลได้

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นายสมคิด ได้ติดตามการดำเนินตามมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยได้รับรายงานว่า ส่วนใหญ่หรือราว 80% ของมาตรการสามารถเดินหน้าไปได้ อย่างไรก็ดี นายสมคิด ได้เร่งรัดและตั้งเป้าหมายให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งตามมาตรการจะมีวงเงินความช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านการปล่อยสินเชื่อกว่า 3 แสนล้านบาท โดยจะต้องปล่อยให้ได้ถึง 50% จากวงเงินดังกล่าว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในช่วงเช้าวานนี้(20ม.ค.)ว่า ได้ประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายที่ตนได้มอบไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งตนได้เร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว หากมีมาตรการใดที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมก็มอบให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้หารือกับประธานสมาคมธนาคารไทยเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(บสย.)จาก 30% เป็น 40% ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งได้กำชับให้สถาบันการเงินได้เร่งปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมายจำนวน 6 หมื่นล้านบาท

“ผมได้ขอความร่วมมือทั้งแบงก์รัฐและเอกชนให้เขาช่วยเร่งปล่อยสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้เม็ดเงินลงไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”

เขากล่าวด้วยว่า ผู้บริหารคปภ.ได้รายงานต่อที่ประชุมด้วยว่า สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการคปภ.โดยจะได้หารือถึงการขยายการลงทุนให้กว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจประกัน ทั้งนี้ ธุรกิจประกันมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่มากถึง 4 ล้านล้านบาท ดังนั้น การขยายการลงทุนจึงจะเป็นประโยชน์ โดยกรณีการลงทุนในประเทศนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศนั้น ก็จะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้อีกทางหนึ่งด้วย