'เอกชน' ชูอุตฯ ป้องกันประเทศ หนุนเหล่าทัพพึ่งตนเอง

'เอกชน' ชูอุตฯ ป้องกันประเทศ หนุนเหล่าทัพพึ่งตนเอง

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีแผนที่ผลักดันให้พื้นที่จุกเสม็ด จ.ชลบุรี เพื่อให้เหล่าทัพสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทั้งในยามปกติและสงคราม

ธงชัย อุพันวัน ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เปิดเผยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 ด้าน ได้แก่

1.การเปิดเสรีให้ภาคเอกชนขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธให้กระทรวงกลาโหมได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันถ้าโรงงานใดไม่ขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานผลิตอาวุธก็ผลิตชิ้นส่วนส่งให้โรงงานผลิตอาวุธไม่ได้ ซึ่งชิ้นส่วนบางอย่างใช้ได้ทั้งการผลิตสินค้าทั่วไปและสินค้าที่เป็นอาวุธ 

ทำให้โรงงานเหล่านี้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ยาก เพราะการขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานผลิตอาวุธมีขั้นตอนที่ยาก ดังนั้นควรปรับให้ขึ้นทะเบียนง่ายขึ้น ชิ้นส่วนใดที่เอกชนทำได้ควรเปิดให้ผลิต ส่วนสินค้าใดมีอันตราย เช่นกระสุน หรือระเบิด ก็ควรจะขึ้นทะเบียนอย่างเข้มงวด

2.กระทรวงกลาโหมควรสนับสนุนให้ทุกกองทัพทำงานวิจัยเพื่อผลิตสินค้าที่ขายได้ ไม่ใช่ทำการวิจัยแล้วเก็บไว้ ซึ่งไม่เกิดผลในการผลิตเพื่อทดแทนนำเข้า รวมทั้งควรนำผลงานวิจัยมาเปิดให้ภาคเอกชนนำไปผลิต หรือร่วมผลิตกับเอกชน เพื่อต่อยอดผลการวิจัยเป็นยุทโธปกรณ์ต่างๆป้อนให้กับกองทัพทดแทนการนำเข้า

“ทุกกองทัพมีผลการวิจัยอาวุธและยุทโธปกรณ์จำนวนมาก แต่ไม่นำมาต่อยอดเป็นการผลิตสินค้า ดังนั้นรัฐควรนำผลวิจัยเหล่านี้มาเปิดเสรีให้ภาคเอกชนนำไปผลิต โดยไม่ติดลิขสิทธิ์ของหน่วยงานและบุคคลในกองทัพ เพื่อผลิตสินค้าป้อนให้กับกองทัพและการส่งออก”

3.กำหนดสัดส่วนการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศ โดยในแต่ละปีกองทัพไทยนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากและมีราคาแพงมาก ซึ่งหากใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศราคาจะต่ำกว่าสินค้านำเข้าไม่น้อยกว่า 50% 

กระทรวงกลาโหมควรจะทยอยเพิ่มสัดส่วนการใช้สินค้าภายในประเทศอาจจะเริ่มต้นในปี 2563 จาก 30% เพิ่มเป็น 40% และ50% ในปีต่อไป ซึ่งหน่วยทหารควรจัดหานำเข้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ เริ่มตั้งแต่ยุทโธปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน เช่น เสื้อเกราะ หมวกกันกระสุน หน้ากากกันแก๊สพิษรองเท้าทหาร อุปกรณ์เดินป่า โดรน ปืนประจำกาย รถหุ้มเกราะ ซึ่งไทยก็มีศักยภาพผลิตเองได้ในราคาต่ำกว่าการนำเข้า

“กำลังซื้อของกองทัพไทยมีจำนวนมากที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ไม่ยาก โดยปีงบประมาณ 2563 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท หากใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ 30% ก็มีจำนวนกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้มแข็ง และต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตอาวุธที่มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้พึ่งพาตัวเองได้”

ทั้งนี้ แม้ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วนจะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและมีราคาแพงมาก แต่มีหลายส่วนที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงและผู้ประกอบการไทยผลิตได้ เช่น เสื้อกันกระสุน หมวกกันกระสุน หน้ากากกันแก๊สพิษ 

ส่วนอาวุธที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ขีปนาวุธนำวิถี รถถัง ปืนใหญ่อัตราจร ก็ไม่ยากที่ไทยจะผลิตได้ เพราะทุกวันนี้ทุกโรงงานก็สั่งซื้อเครื่องจักรที่ผลิตอาวุธเหล่านี้ได้หมดเพียงแต่ต้องเปิดโอกาสให้คนไทยได้ผลิตยุทโธปกรณ์ขนาดเล็กก่อน เช่น กระสุน ระเบิด ลูกปืนใหญ่ ปืนใหญ่ จรวด จากนั้นให้ต่อยอดสู่การผลิตอาวุธขนาดใหญ่หรือใช้เทคโนโลยีสูง และตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตอาวุธของภูมิภาคนี้เหมือนการตั้งเป้าให้ไทยเป็นดีทรอยของเอเชียในการผลิตรถยนต์

รัฐบาลควรดึงดูดการลงทุนให้บริษัทผลิตอาวุธชั้นนำเข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ดึงให้ผู้ผลิตไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต แบบที่ได้ส่งเสริมการผลิตรถยนต์จนผลิตรถยนต์ในประเทศได้

การที่ไทยจะเริ่มต้นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทำได้ เพราะไทยมีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนที่หลากหลาย ดังนั้นการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศจึงไม่ยาก ซึ่งมีหลายประเทศที่ไปสู่ผู้ผลิตอาวุธชั้นนำ เช่า เกาหลีใต้ ก็ได้ต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ไปสู่ประเทศผู้ผลิตอาวุธที่มีคุณภาพสูงส่งไปขายทั่วโลก

157952301891

สำหรับความร่วมมือระหว่างสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ได้ร่วมกำหนดแผน 4 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 (2562-2565) ปฏิรูป โดยจะศึกษาแนวทางการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในอีอีซี รวมทั้งศึกษาแนวทางและจัดตั้งหน่วยธุรกิจนำร่องโครงการที่มีศักยภาพในและนอกพื้นที่ อีอีซี และต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนา หรือผลิตภัณฑ์ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ที่มีศักยภาพหรือขีดความสามารถ ให้สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ ตามลำดับความเร่งด่วนที่กำหนด

ระยะที่ 2 (2566-2570) ส่งเสริมความเข้มแข็ง โดยตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในอีอีซี ซึ่งจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น จัดตั้งหน่วยธุรกิจ โดยการร่วมทุนกับเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งในและนอกอีอีซี สำหรับโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการดำเนินการ โดยเน้นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานภายในประเทศ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อขยายฐานการผลิตออกไปต่างประเทศ

ะยะที่ 3 (2571-2575) ส่งผ่านสู่เอกชน สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ลดสัดส่วนการลงทุนหรือถอนการลงทุนในหน่วยธุรกิจ รวมทั้งขยายฐานการผลิตหรือส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปประเทศ ทั้งนี้อาจจัดตั้งหน่วยธุรกิจ หรือแต่งตั้งผู้แทนสำหรับกิจการที่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการดำเนินการ

ระยะที่ 4 (2576-2580) เกิดความยั่งยืน ผู้ประกอบการสนับสนุนให้กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพพึ่งพาตนเองด้านยุทโธปกรณ์ได้ ทั้งในยามปกติและยามสงคราม