'กยท.' เร่งแก้ยางใบร่วง ชาวสวน 8 หมื่นรายอ่วม

'กยท.' เร่งแก้ยางใบร่วง ชาวสวน 8 หมื่นรายอ่วม

กยท.ร่วมต่างชาติ ระดมข้อมูลแก้ปัญหา ต้นยางใบร่วง ชี้เป็นเชื้อราสายพันธุ์ใหม่ พบแล้วกว่า 7.6 แสนไร่ 9 จังหวัด ร่วมวิชาการเกษตร เร่งทดสอบ คาด 3 เดือนรู้ผล

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เผยว่า จากการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชระดับนานาชาติรเมื่อเร็วๆนี้มีผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มนักวิชาการด้านโรคพืชตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศ ประกอบด้วย กยท. กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) และกลุ่มประเทศสมาชิกสภาวิจัยและพัฒนายางระหว่างประเทศ หรือ IRRDB ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุม

โดยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ระดมความคิดเห็น เพื่อหามาตรการป้องกันและกำจัดโรคใบร่วงในยางพาราชนิดใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในพื้นที่สวนยางภาคใต้ตอนล่างของไทย ซึ่งจากการสำรวจพบการแพร่ระบาดแล้วใน 9 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ 762,939.34ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบ 81,542 ราย

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญของไทยและต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้มาจากเชื้อราสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทุประเทศได้เปิดเผยข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในด้านวิธีการ งบประมาณ ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการ การรักษา ระงับอาการ และดูแลสวนยาง ตลอดปัจจัยอื่น

โดยข้อมูลทั้งหมดนี้แต่ละประเทศจะกลับไปเร่งตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อชนิดไหน สายพันธุ์อะไร ถือว่ามีความสำคัญในการต่อยอดเพื่อหามาตรการ แนวทางในการรักษาโรคใบร่วงในยางพาราสายพันธุ์ใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ กยท. ได้นำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานในแปลงยางที่มีการระบาดของโรค และติดตามผลการใช้สารเคมีที่ฉีดพ่นด้วยเครื่องอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ในสวนยางพาราของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง พร้อมสำรวจแปลงยางและพืชชนิดอื่นๆ ที่แสดงอาการของโรคใบร่วงอีกด้วย 157952246797

ด้าน นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า ขณะนี้ กยท. อยู่ระหว่างเร่งบูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ของเชื้ออย่างละเอียด เพื่อให้ทราบว่าเชื้อใดทำให้เกิดโรค โดยจะใช้ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์เชื้อสาเหตุที่แท้จริง ประมาณ 3 เดือน เมื่อทราบลักษณะจำเพาะของเชื้อแล้ว จะสามารถบอกได้ว่าต้องใช้วิธีใดในการรักษาต้นยางที่ติดเชื้อ และจะสามารถหามาตรการป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวได้