ธปท.หวังมาตรการอุ้ม 'เอสเอ็มอี' กด NPL ระบบแบงก์ลด

ธปท.หวังมาตรการอุ้ม 'เอสเอ็มอี' กด NPL ระบบแบงก์ลด

“ธปท.” ชี้เอ็นพีแอลแบงก์พุ่ง “ไม่น่าห่วง” หวังมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี ช่วยให้เอ็นพีแอลลดลงได้ ด้าน “กรุงศรี-ทีเอ็มบี” รุกตัดขายหนี้เสีย กดเอ็นพีแอลไม่ให้ทะยาน ด้านกำไรปี 62 “กรุงศรี” โตกว่า 32% ส่วน “ทีเอ็มบี” รายได้ดิ่งฉุดกำไรทรุด 37.7%

ธนาคารพาณิชย์ ทยอยประกาศผลการดำเนินงานปี 2562  พบส่วนใหญ่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้น  ล่าสุดธนาคารทหารไทย  จำกัด(มหาชน)(TMB) มีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่  3.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ผลจากการรวมงบกับธนาคารธนชาต (TBANK)  ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)(BAY) มีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 4.13 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% 

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า  เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หากดูเสถียรภาพโดยรวมของระบบยังไม่น่ากังวล เชื่อว่าแบงก์จะมีวิธีการบริหารจัดการเอ็นพีแอลท่ามกลางเศรษฐกิจปัจจุบันได้ ในขณะที่ยังมีความสามารถในการทำกำไรได้ 

ทั้งนี้ คาดว่าจากมาตการการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งการให้แบงก์โครงสร้างหนี้ให้กับเอสเอ็มอี จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเอ็นพีแอลโดยรวมให้ลดลงได้ เพราะเอสเอ็มอีเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ตกชั้นไปเอ็นเอ็นพีแอล 

ด้าน BAY รายงานผลดำเนินงานปี 2562 ว่ามีกำไรสุทธิกว่า 32,748.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่แข็งแกร่ง  8.7% จากปีก่อน โดยมีสินเชื่อเพื่อรายย่อยเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลัก เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นที่ 11.1% สะท้อนผู้นำสินเชื่อเพื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจเพิ่มขึ้น 6.6%

ส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 41,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% จากปีก่อน  โดยในช่วงไตรมาส 2ได้ตัดขายหนี้เสียไป 930 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 2.01%ในปี2561 มาอยู่ที่ 1.98%  อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 163.8%  

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAY เปิดเผยว่า บริษัทจึงตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อสำหรับปี 2563 ที่ 5 - 7% ด้วยนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่มีความรอบคอบระมัดระวัง

ด้าน TMB รายงานผลดำเนินงานปี 2562 ว่ามีกำไรสุทธิเพียง 7,222.48 ล้านบาท ลดลงกว่า 37.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,601.24 ล้านบาท หลังรายได้รวมจากการดำเนินงานลดลง 17.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบันทึกกำไรจากขายหุ้นของบลจ.ทหารไทยในปี 2561และการชะลอตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมและแบงก์แอสชัวรันส์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 18.3% จากการบันทึกค่าใช้จ่ายของธนาคารธนชาตในฐานะเป็นบริษัทย่อย

ขณะที่สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 103.0% หรืออยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาท   การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากการรวมเงินให้สินเชื่อของธนาคารธนชาตภายหลังจากรวมกิจการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ ส่วนด้านเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้น 115.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.39 ล้านล้าน  ซึ่งมาจากการรวมงบการเงินของธนาคารธนชาตและผลิตภัณฑ์เงินฝากหลักของ TMB

ส่วนมีรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 26,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยของสินเชื่อเช่าซื้อในงบการเงินของทีเอ็มบี แม้ NIM จะลดลงมาอยู่ที่ 2.81% จากการชะลอตัวของ NIM ซึ่งเป็นผลมาจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นและมีการรับรู้งบกำไรขาดทุนของธนาคารธนชาต 28 วัน พร้อมทั้งอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อลดลงเล็กน้อยจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ด้านเอ็นพีแอลปี2562 อยู่ที่ 37,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากการรวมงบกับธนาคารธนชาต  ส่วนงบการเงินเฉพาะอยู่ที่ 18,150 ล้านบาท ลดลง16.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธนาคารยังคงแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพผ่านการ write off เพื่อลดความเสี่ยงเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและเพื่อให้ ฐานะทางการเงินคงความแข็งแกร่ง ปี2562  ธนาคาร write off สินเชื่อด้อยคุณภาพ 1.5 หมื่นล้านบาท และขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5 พันล้านบาท  ส่งผลให้ NPL ratio อยู่ที่ 2.30% จาก2.76% ในสิ้นปีก่อน ส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัญจะสูญอยู่ที่ 10,337 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่อยู่ระดับ 16,100 ล้านบาท