ถล่ม 'หุ้นแบงก์' ผวาหนี้เสียพุ่ง 'เอสซีบี' ดิ่งหนักเฉียด 13% ทำจุดต่ำสุดรอบ 8 ปี

ถล่ม 'หุ้นแบงก์' ผวาหนี้เสียพุ่ง 'เอสซีบี' ดิ่งหนักเฉียด 13% ทำจุดต่ำสุดรอบ 8 ปี

หุ้นกลุ่มแบงก์ดิ่งกว่า 4% หลัง ‘ไทยพาณิชย์’ กอดคอ ‘ทหารไทย’ โชว์ผลงานปี 2562 ต่ำกว่าคาด นักวิเคราะห์จ่อหั่นประมาณการหลังประชุมนักวิเคราะห์ กังวล “เอ็นพีแอล” ส่อพุ่งต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี

ตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นสัปดาห์รองสุดท้ายของเดือน ม.ค. 2562 ด้วยแรงกดดันจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Bank) ซึ่งปิดลบไปถึง 4% และมีส่วนกดดันดัชนี SET ไปถึง 7 จุด ทำให้ดัชนี SET ล่าสุด (20 ม.ค.) ปิดลบไป 11.37 มาอยู่ที่ระดับ 1,589.11 นำโดยหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ซึ่งปิดตลาดลดลงไป 12.82% มาอยู่ที่ 102 บาท 

แรงกดดันสำคัญมาจากการรายงานผลประกอบการปี 2562 ของ SCB ที่แม้ว่าจะยังรักษากำไรสุทธิทั้งปีให้เป็นบวกได้เล็กน้อย 0.9% ทำได้ 4.06 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียด ทั้งเฉพาะในส่วนไตรมาส 4 ปี 2562 ที่กำไรสุทธิลดลงถึง 22% และที่สำคัญคือตัวเลข NPL ที่พุ่งขึ้นจากราว 3% มาเป็น 3.41%

ผลประกอบการที่น่าผิดหวังของ SCB รอบนี้ ยังได้สร้างความกังวลต่อหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่รายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB รวมถึง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ต่างปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า

สำหรับ SCB รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4 ที่ 5.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าที่ Consensus คาดไว้ราว 9.9 พันล้านบาท จากทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งลดลง เนื่องจากการขาย SCB Life ให้ FWD Group ทำให้รายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนในส่วนนี้หายไป ขณะเดียวกันรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อลดลง จากทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและสินเชื่อที่ชะลอตัว 1.3% จากไตรมาสก่อน

ส่วนค่าใช้จ่ายเร่งตัวขึ้น มาที่ 52.8% จาก 48.2% ในงวดก่อนหน้า ประกอบกับค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง (Credit Cost) ที่ 1.82% สูงขึ้นจาก 1.15% ในงวดไตรมาส 3 ปี 2562

ทั้งนี้ ราคาหุ้น SCB ที่ดิ่งลงมาแรงในรอบนี้ ถือเป็นการทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้งในรอบกว่า 8 ปี ที่ระดับ 102 บาท และยังเป็นการร่วงลงมาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีที่ประมาณ 116 บาท อีกด้วย

ด้าน ธนภัทร ฉัตรเสถียร นักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ในระยะสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ไปก่อน เนื่องจากภาพรวมของกลุ่มมีโอกาสที่จะถูกปรับประมาณการลงหลังการประชุมนักวิเคราะห์หลังจากนี้ โดยเฉพาะแบงก์ขนาดใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มที่ผลประกอบการจะต่ำกว่าคาด เช่นเดียวกับผลประกอบการของ SCB

สำหรับแนวโน้มของ NPL ในปีนี้ก็ยังมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SME ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามที่เวิร์ลแบงก์คาดการณ์ไว้ที่เพียงกว่า 2% ทำให้สินเชื่อจะขยายตัวได้ต่ำมาก

“กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์คงต้องเลือกเป็นรายตัว ในเบื้องต้นมองว่า BBL น่าจะทำได้ดีกว่ากลุ่ม เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่ปัญหาทั้งเรื่องของ NPL การเติบโตของสินเชื่อ และการควบคุมค่าธรรมเนียมโดยธปท.ในขณะนี้ เกิดจากกลุ่มลูกค้า SME เป็นหลัก"

สัญญาณดังกล่าวเริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่อีกสองธนาคารอย่าง BAY และ TMB รายงานผลประกอบการตามมา โดยที่ BAY ยังคงเติบโต ส่วน TMB มีผลงานอ่อนตัวลง

ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ นักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ความแตกต่างของผลประกอบการของ BAY และ TMB ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจาก โครงสร้างลูกค้าที่แตกต่างกัน ในส่วนของ BAY ที่มีฐานลูกค้า SME เพียงแค่ประมาณ 15% และลูกค้ารายย่อยในกลุ่มเช่าซื้อ มีสัดส่วนราว 47% ทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อของบริษัทยังเติบโตได้ 8.7% ในปีที่ผ่านมา หนุนให้กำไรสุทธิพุ่งขึ้น 32% เป็น 3.27 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่ TMB มีฐานลูกค้า SME ประมาณ 29% และมีฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มสินเชื่อบ้าน ประมาณ 34% จึงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากกว่า และยังถูกกดดันจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบต่อการส่งออกของลูกค้า SME 

โดยรวมจึงทำให้ผลประกอบการของ TMB มีรายได้จากการดำเนินงานหดตัวถึง 17.1% เหลือ 3.98 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ ลดลง 37.7% เหลือ 7.22 พันล้านบาท ขณะที่ NPL ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2562 ลดลงเหลือ 2.3% จาก 2.76% เมื่อปีก่อน 

“ประเด็นของ NPL หลังจากนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด จากการประเมินแนวโน้มในขณะนี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก ทำให้ตัวเลข NPL ของกลุ่มแบงก์ยังไม่น่าจะปรับตัวลดลงได้”

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งหุ้นกลุ่มแบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็ก ดูเหมือนว่าจะยังทำผลงานได้น่าประทับใจมากกว่า ขณะที่ตัวเลข NPL ก็ปรับตัวลดลง สวนทางกับตัวเลขของ SCB และ TMB ที่รายงานออกมา

ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP และทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เป็นอีกสองบริษัทที่รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว

โดย KKP มีกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ 1.68 พันล้านบาท เติบโต 18% จากปีก่อน เป็นผลจาก Credit Cost ลงมาที่ 0.35% จาก 0.63% ในงวดก่อน รวมทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมฯ กลุ่มงานวาณิชธนกิจที่มีแรงหนุนจากดีลใหญ่ของ บมจ.แอสเสทเวิรด์ (AWC)ส่วนทั้งปีกำไรเป็นไปตามคาด ใกล้เคียงปีก่อนที่ 5.98 พันล้านบาท ด้าน NPL ณ สิ้นปีอยู่ที่ 4% ลดลงจาก 4.1% เมื่อปีก่อน

ด้าน TISCO รายงานกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 7.27 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง 81.1% สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 เมื่อพิจารณาเฉพาะรายได้จากการดำเนินงาน ลดลง 13.5% โดยมีสาเหตุจากรายได้ดอกเบี้ยลดลง 1.8% จากรายการระหว่างธนาคารลดลง 18.5% แม้อัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ทรงตัวที่ 4.2% อัตราส่วน NPL ลดลงเหลือ 2.4% จากปี 2561 ที่ 2.86% เป็นผลจากการปรับปรุงระบบการตัดชำระค่างวด และการตัดจำหน่ายหนี้สูญ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานบัญชี TFRS9