เร่งลงทุน 'นวัตกรรม' ได้ประโยชน์ 2 ทาง

เร่งลงทุน 'นวัตกรรม' ได้ประโยชน์ 2 ทาง

ทางออกจากบาทแข็งในหลากแนวคิด บ้างเสนอให้เอกชนเร่งลงทุน แต่ก็มีเสียงโต้จะลงทุนได้อย่างไรในภาวะชะลอตัวแบบนี้ แต่บางคนมองว่าการลงทุนเกิดขึ้นได้จริง แต่เป็นการเพิ่มทางนวัตกรรม ไม่ใช่รองรับคำสั่งซื้ออย่างเดิม แต่ภาครัฐก็ควรมีมาตรการส่งเสริมจูงใจด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา คนในรัฐบาล และกูรูเศรษฐกิจหลายราย ออกมาแสดงทัศนะถึงแนวทางการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่ากันคึกคัก โดยหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหา คือ ข้อเสนอให้ภาคเอกชนไทยเร่งการลงทุน โดย "ฉวยจังหวะ" ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปี เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อ "ดุลบัญชีเดินสะพัด" ที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะ "เกินดุล" ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคเอกชน ว่างเว้นการลงทุนมานาน ทำให้รายได้จากต่างประเทศ (ส่งออกและการท่องเที่ยว) มีมากกว่ารายจ่าย (การนำเข้าสินค้าและบริการ หมายรวมถึงการนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุนมาขยายการลงทุน) ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในที่สุด

ขณะที่ภาคเอกชนหลายราย ออกมาแสดงทัศนะโต้ในเรื่องนี้ว่า ในเมื่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ อยู่ในภาวะชะลอตัว ฉุดคำสั่งซื้อ (กำลังซื้อ) เป็นเหตุผลในตัวเองว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่ใส่เงินลงทุน เพื่อนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนมาขยายกำลังการผลิต ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มีอีกทัศนะที่น่าสนใจว่า การลงทุนภาคเอกชนยังเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากฐานการผลิตเดิม ที่อิงกับ "คำสั่งซื้อ" เสมอไปเท่านั้น หากแต่เป็นการลงทุนด้าน "นวัตกรรม" เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจไม่ควรละเลย หากต้องการ "ยืนหยัด" บนสมรภูมิการค้า เพราะในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็เท่ากับถอยหลังเข้าคลอง

นอกจากนี้ การลงทุนด้านนวัตกรรม ยังสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาส่งออกไทย ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจะต้อง "ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้า" เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม กำไรต่อหน่วยสินค้า (มาร์จิ้น) ให้สูงขึ้น หลังจากพบว่าแม้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทลดลงแล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง ยังเกิดจากโครงสร้างสินค้าที่ส่งออกมีการแข่งขันสูง มาร์จิ้นต่ำ เพราะเป็นสินค้าทั่วไปและสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ราคาอิงตลาดโลก ทำให้ต้องฉีกไปผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม รองรับความต้องการสินค้าและบริการที่เปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคเทคโนโลยีไล่ล่า

ขณะที่การลงทุนด้านนวัตกรรม ยังเป็นการลงทุนตาม "เทรนด์โลก" เมื่อดิจิทัล เข้าไปปั่นป่วน (ดิสรัป) ทุกธุรกิจ ธุรกิจจะอยู่รอดได้ในระยะยาว จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่าน หรือทรานส์ฟอร์มองค์กร โดยผลสำรวจ 100 ซีอีโอที่จัดทำโดยกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงต้นปี 2563 ซีอีโอส่วนใหญ่ (สัดส่วน 40%) ระบุว่า "ดิจิทัล ดิสรัปชั่น" คือความท้าทายในการดำเนินธุรกิจปี 2563 โดยพยายามปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรับมือกับการดิสรัปของเทคโนโลยียุคใหม่

ช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ จึงถือว่า "เหมาะที่สุดแล้ว" ในการลงทุนเพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กร โดยธุรกิจที่สายป่านยาวไม่น่าจะมีปัญหามากนัก ส่วนธุรกิจที่สายป่านสั้น รัฐก็ควรจะมี "มาตรการจูงใจ" เข้ามาช่วยลดภาระทางการเงินดังกล่าว เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรม ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์ใน 2 ด้าน ทั้งทยอยปรับโครงสร้างสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และลดผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่าไปในตัว