เล็งจัดสรรงบ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน 'รร.3จังหวัดชายแดนใต้'

เล็งจัดสรรงบ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน 'รร.3จังหวัดชายแดนใต้'

"ครูตั้น" เล็งจัดสรรงบยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโรงเรียน พร้อมยกระดับ "รร.ดีประจำตำบล" ต้องมีคุณภาพจริงไม่ใช่มีแต่ชื่อ ฝากครูในพื้นที่แนะแนวเข้มให้เด็กพูดภาษาไทยให้ชัด

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 63 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่โรงเรียนนราธิวาส ว่า การจัดการศึกษาภาคใต้จะต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม จะต้องศึกษาข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) มาวิเคราะห์ เพื่อบริหารจัดการการศึกษาของพื้นที่ภาคใต้ให้มีความเหมาะสมซึ่งแนวทางเบื้องต้นแล้วคาดว่าจะดำเนินการในเรื่องของงบประมาณ เพราะเท่าที่ลงพื้นที่ พบว่าโรงเรียนในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้สะท้อนปัญหาการศึกษา ในเรื่องของโครงสร้างพื้นที่ที่โรงเรียนควรจะได้รับ เช่น เด็กอยากได้รถรับส่งระหว่างบ้านมาโรงเรียน เพราะบางพื้นที่ระยะทางจากบ้านและโรงเรียนห่างไกลกัน จึงกัลงวลเรื่องการเดินทาง อีกทั้งเด็กบางคนพ่อแม่ก็ต้องทำงานไม่สามารถมาส่งได้ รวมถึงเรื่องอาคารสถานที่ต่างๆมีหลายโรงเรียนอาคารเรียนไม่เพียงพอ ไม่มีพื้นที่กิจกรรม เป็นต้น ดังนั้นประเด็นนี้จึงเหล่านี้ ต้องมีการบริหารจัดการการศึกษาอย่างเหมาะสมตามบริบทของโรงเรียน และพื้นที่ร่วมด้วย

"การจัดงบประมาณให้แก่โรงเรียนในพื้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสำคัญ เนื่องจากโรงเรียนแต่ละแห่งมีความต้องการงบประมาณมาขับเคลื่อนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการสื่อการเรียนการสอน อาคาร สถานที่ทำกิจกรรม เพราะบางแห่งได้รับยกให้ เป็นโรงเรียนดีคุณภาพประจำตำบลของพื้นที่ภาคใต้ แต่กลับไม่ได้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลจริงๆ เหมือนใช้แต่ชื่อแต่ไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากไม่มีงบประมาณ อีกทั้งยังพบเด็กยังมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้เรื่องวิชาภาษาไทยทั้งๆ ที่อายุน่าจะสามารถพูดภาษาไทยได้ชัดแล้ว แต่กลับพูดไม่ได้ ซึ่งผมมองว่าเด็กใช้เวลาในโรงเรียนน้อย ดังนั้น ขอให้ครูในพื้นที่มุ่งพัฒนาวิชาภาษาไทย แนะแนวเด็กให้ใช้ภาษาไทยมากขึ้น ส่วนค่าตอบแทนการสร้างขวัญกำลังใจครูนั้นเท่าที่ทราบยังไม่มีใครสะท้อนในเรื่องนี้ แต่จะมีการให้แต่ละโรงเรียนไปดูว่าจะพัฒนาครูอย่างไร เพราะบางโรงเรียนครูอยากมาสอนในพื้นที่ แต่ไม่สามารถมาได้ เนื่องจากไม่มีที่พัก ดังนั้น อาจจะสนับสนุนในการสร้างหอพักให้แก่ครู เพื่อดึงดูดให้ครูมาทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้" นายณัฏฐพล กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดการอาชีวศึกษาของพื้นที่ภาคใต้นั้นจะต้องเพิ่มการแนะแนวการเรียนต่อวายอาชีพให้มากขึ้น เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน ดังนั้นการแนะแนวจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยบริหารจัดการการเรียนสายอาชีพของพื้นที่ภาคใต้ด้วย

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า นายณัฏฐพล ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา ตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2563 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2563 ซึ่งมีเป้าหมายด้านการส่งเสริมการศึกษา การค้า การลงทุน การค้าชายแดน การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม การพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ การวางระบบการป้องกันสาธารณภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเชิงวัฒนธรรม สังคม พหุวัฒนธรรม การพัฒนาสินค้าเกษตรยางพารา และการพัฒนาตลาดอย่างเป็นระบบครบวงจร รวมถึงการรักษาความสงบความปลอดภัยของประชาชน โดยในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีกำหนดการตรวจราชการพร้อมคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพบปะประชาชนที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และเยี่ยมชมนิทรรศการ และการให้บริการชุมชน ของวิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา นำวิชาชีพเสริมสวย ตัดผม และสปา ให้บริการฟรีแก่ประชาชน โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ ดร.สุเทพ แก่งสันเที๊ยะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นำเยี่ยมชม นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดนิทรรศการ และให้บริการ ณ อาคารรื่นอรุณ เทศบาลเมือง สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวฝากกับประชาชน ผู้ปกครอง ในการส่งบุตร หลานเพื่อการศึกษาต่อต้องพิจารณา ต้องคิดว่าจะเรียนอะไร เรียนแล้ว ทำงานได้ มีอาชีพ มีงานทำและ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ข้อแนะนำแก่สถานศึกษา ว่าจะต้องแสวงหา โรงเรียนที่ใกล้เคียงในพื้นที่ชวนเชิญ นักเรียนเข้าเรียนต่อสายวิชาชีพ และร่วมกับสถานประกอบการ โรงงาน เสริมสร้างทักษะ เทคโนโลยีใหม่ ต่อยอดเติมเต็มให้กับนักศึกษาอาชีวะ เพื่อให้สามารถเข้าสู่งาน และมีอาชีพ เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการต่อไป