เครือข่ายผู้ประสบภัยพิบัติอุบลราชธานีและภาคีเสนอรัฐ หนุนความเข้มแข็งชุมชน จัดการภัยพิบัติน้ำท่วม

เครือข่ายผู้ประสบภัยพิบัติอุบลราชธานีและภาคีเสนอรัฐ หนุนความเข้มแข็งชุมชน จัดการภัยพิบัติน้ำท่วม

บายศรีฯ ถอดบทเรียนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี ขอรัฐหนุนการมีส่วนร่วมจัดการภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน

โดยเครือข่ายฯ ร่วมกับภาคี รวมทั้งมูลนิธิชุมชนไท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง จัดงานบายศรีสู่ขวัญผู้ประสบภัยน้ำท่วมคืนสู่ชุมชน ที่ชุมชนหาดสวนสุข อำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 ชุมชนเขตเทศบาลของจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมหนักในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่ง เนื่องจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล

โดยเครือข่ายฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า จากสถานการณ์ภัยน้ำท่วม เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สิน ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูน อำเภอวารินชำราบ และนครอุบลราชธานีในวงกว้าง สร้างผลสะเทือนต่อขวัญ และกำลังใจชาวชุมชนอย่างแสนสาหัส

แม้สภาพทางกายภาพของชุมชนกลับคืนสู่สภาวะเกือบปรกติ เริ่มใช้ชีวิตตามวิถีเดิมได้ แต่ก็อยู่ในภาวะถดถอยทางจิตใจและมีความกังวลต่อภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

เครือข่ายผู้ประสบภัยพิบัติ อุบลราชธานีและภาคีฯทุกภาคส่วน ได้มีการระดมความคิดเห็น ถึงแนวทางในการ จัดทำแผนการรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน และเดินหน้าเตรียมการรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน

ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้มีการคิดค้นสร้างรูปแบบการแก้ไขปัญหาส่วนหนึ่ง โดยการต่อเรือ แพลอยน้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐได้มีส่วนร่วมผลักดัน การสร้างกระบวนการความปลอดภัยเชิงรุกมากกว่าเชิงรับหรือรอการเยียวยา ตลอดจนจัดอาสาสมัครภัยพิบัติที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นกำลังหลักของชุมชนในการเตรียมพร้อม ช่วยเหลือ และร่วมฟื้นฟูเยียวยา


อย่างไรก็ตาม การสนับสนุน ส่งเสริมชุมชน และการฟื้นฟูเยียวยา ยังมีข้อจำกัดในแนวทางการทำงานหลายประการ โดยเฉพาะการส่งเสริมชุมชนในเชิงรุก

จากประสบการณ์ชุมชนและเครือข่าย ได้มีการระดมความคิดเห็น และมีข้อเสนอแนวทางเพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงภัยชุมชนได้อย่างยั่งยืน ดังนี้

1. ให้เร่งรัด เร่งด่วน ในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดอุบลราชธานี ตามสิทธิ์ที่ควรได้รับ

2. ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ให้ชุมชน เช่น การต่อเรือ สร้างแพลอยน้ำ หอเตือนภัย เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ

3. ให้รัฐบาล ปรับปรุงกฎหมายและมีนโยบาย ส่งเสริมให้ชุมชน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เช่น การจัดตั้งครัวกลาง โดยให้ผู้ประสบภัยได้ดูแลกันเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม พร้อมสนับสนุนงบประมาณไปสู่ ชุมชนและท้องถิ่นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ

4. จัดให้มีศูนย์ภัยพิบัติชุมชน ที่ประกอบด้วย การฝึกให้มีอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชน มีข้อมูลเสี่ยงภัย มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ในการลดการเสี่ยงภัย

​5. จัดศูนย์อพยพให้มีมาตรฐาน มีที่พัก ห้องน้ำ โรงครัว และอยู่ใกล้บริเวณบ้าน

​6. ปรับปรุง จัดการระบบเตือนภัยและระบบข้อมูลให้มีเอกภาพ มีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเข้าถึงชุมชนได้หลายช่องทาง

​7. มีการจัดทำแผนชุมชนทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแผนภัยพิบัติเท่านั้น

​8. จัดให้มีการสื่อสาร เชื่อมโยง ขยายเครือข่าย เพื่อการเตือนภัยในระดับชุมชนและระดับเครือข่าย

​9. นำการจัดการองค์ความรู้มาใช้ในระบบการเตือนภัย

​10. เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับจังหวัดและระดับประเทศ

ทั้งนี้ น้ำท่วมปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชุมชนและหมู่บ้านในอำเภอวารินฯ ราว 40 จุด 4,000 กว่าครัวเรือน

มูลนิธิชุมชนไท ได้ร่วมกับภาคีฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือสนับสนุนชุมชนในการจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติ ด้วยแนวทางให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ผ่านกระบวนการจัดหาและต่อเรือ และการทำครัวกลางผ่านการระดมทุนจากภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติที่พัฒนาและต่อยอดจากเครือข่ายฯ สึนามิ ซึ่งเชื่อกันว่ามีคงามยั่งยืนมากกว่าการให้ผู้ประสบภัยรอรับแต่ความช่วยเหลือจากหน่วยงานและภายนอก


ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และอดีตผู้ประสบภัยสึนามิที่ร่วมพัฒนาต่อยอดเครือข่ายชุมชนจัดการภัยพิบัติกล่าวว่า โมเดลการจัดการภัยพิบัติน่ำท่วมนี้ จะถูกขยายผลไปยังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอื่นๆทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ข้อเสนอจากการถอดบทเรียนครั้งนี้ จะถูกนำเสนอต่อผู้ว่าฯ จังหวัดและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป