มาเลย์หวั่นดีลการค้าเฟสแรกฉุดส่งออก‘น้ำมันปาล์ม’

มาเลย์หวั่นดีลการค้าเฟสแรกฉุดส่งออก‘น้ำมันปาล์ม’

มาเลเซียหวั่นดีลการค้าเฟสแรกฉุดส่งออก‘น้ำมันปาล์ม’ หลังจีนหันสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐเพิ่มภายใต้เงื่อนไขของการทำข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับสหรัฐ

รัฐบาลมาเลเซียเร่งหาลูกค้ารายใหม่เพื่อใช้เป็นตลาดส่งออกน้ำมันปาล์ม ในช่วงที่ความต้องการน้ำมันปาล์มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อจากอินเดียและจีนหดหายในปริมาณมาก โดยในกรณีของอินเดียนั้นเป็นเพราะดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอินเดียในแคว้นแคชเมียร์ และการออกกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ที่กีดกันชาวมุสลิม ทำให้อินเดียไม่พอใจ ตอบโต้ด้วยการจำกัดการนำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซีย พร้อมทั้งขอให้กลุ่มธุรกิจนำเข้าน้ำมันปาล์มในอินเดียยุติการซื้อน้ำมันประเภทดังกล่าวจากมาเลเซียทั้งหมดทันที

ส่วนกรณีของจีน มาเลเซีย กลัวว่า การทำข้อตกลงการค้าเฟส1ระหว่างจีนและสหรัฐที่เพิ่งผ่านพ้นไป จะทำให้จีนหันไปซื้อน้ำมันปาล์มจากสหรัฐมากขึ้นและซื้อน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียลดลงจึงทำให้มาเลเซียต้องมองหาตลาดใหม่เพื่อเป็นทางเลือกในการส่งออกน้ำมันปาล์ม พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

ปัญหาขัดแย้งระหว่างมาเลเซียและอินเดีย ที่มีนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ เป็นผู้จุดชนวน ทำให้ตัวแทนกลุ่มผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มในอินเดีย บอกว่า รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ยกเลิกการซื้อน้ำมันปาล์มในทันที และให้ไปซื้อกับตลาดน้ำมันปาล์มอินโดนีเซียแทน แม้ว่าจะต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าถึง 10 ดอลลาร์ (ราว 300 บาท) ต่อตันก็ตาม

ที่ผ่านมา อินเดีย เป็นประเทศผู้ซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่ากว่า 9 ล้านตันต่อปี เนื่องจากชาวอินเดียบริโภคน้ำมันปาล์มมากถึง 2 ใน 3 ของน้ำมันนำเข้าเพื่อปรุงอาหารทั้งหมดของอินเดีย โดยกรณีขัดแย้งครั้งนี้อาจก่อให้เกิดแรงกดดันต่อราคาน้ำมันปาล์มในมาเลเซีย ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มคงเหลือในโกดังของมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลดีต่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่สุดของโลก

มาเลเซีย เป็นผู้กำหนดราคากลางน้ำมันปาล์มในตลาดโลก ราคาน้ำมันปาล์มดิบ งวดส่งมอบในเดือน ก.พ. ของมาเลเซียราคาอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ (24,165 บาท) ส่วนของอินโดนีเซีย ราคาตันละ 810 ดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวของอินเดีย อาจส่งผลดีต่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่สุดของโลก

"การที่จีน ให้คำมั่นว่าจะสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการสั่งซื้อน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย จากเดิมที่การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เอื้อประโยชน์อย่างมากแก่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มออกขายในต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เร่งผลิตน้ำมันปาล์มป้อนให้ตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนที่กำลังต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร"บาลู นัมบิอัพพัน รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย กล่าว

157939628552

บาลู กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับสหรัฐ เปิดโอกาสให้จีนเข้าถึงตลาดน้ำมันถั่วเหลืองสหรัฐได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดส่งออกน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย และถึงแม้น้ำมันปาล์มของมาเลเซียจะมีราคาแพงกว่าน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย แต่น้ำมันปาล์มของมาเลเซียมีคุณภาพมากว่า

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียไปจีนเพิ่มขึ้น 48.7% ส่วนน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น 27.6% และปีที่แล้วทั้งปี มาเลเซีย ส่งออกน้ำมันปาล์มไปจีนในปริมาณ 2.49 ล้านตัน หรือประมาณ 25% ของการนำเข้าน้ำมันปรุงอาหารของจีนโดยรวม

ช่วงเดือนม.ค.-พ.ย.ปีที่แล้ว มาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 10.9% เป็น 25.7 ล้านตัน เทียบกับปริมาณ 23.1 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปี 2561 แม้ว่ารายได้จากการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์จากปาล์มจะลดลงเหลือ 14.5 พันล้านดอลลาร์ จาก 15.4 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้านี้

นอกจากมาเลเซียจะมีวิวาทะกับอินเดียแล้ว ยังมีกรณีขัดแย้งกับสหภาพยุโรป (อียู)ด้วย โดยชนวนขัดแย้งมาจากการที่อียูประกาศเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้วว่า จะค่อยๆ เลิกใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะในปี 2573 หรือ 10 ปีนับจากนี้ไป เนื่องจากมีความกังวลเรืองปัญหาสิ่งเเวดล้อม