ลุ้น 'ดีลการค้าเฟส 1' กระตุ้นเศรษฐกิจจีนโตต่อเนื่อง

ลุ้น 'ดีลการค้าเฟส 1' กระตุ้นเศรษฐกิจจีนโตต่อเนื่อง

ลุ้น‘ดีลการค้าเฟส1’กระตุ้นเศรษฐกิจจีนโตต่อเนื่อง หลังสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มปรากฏมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะการอ่อนแรงลงของการบริโภคในจีนที่ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ลดลง ตัวเลขค้าปลีกซบเซา

หลังจากจีนและสหรัฐลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกร่วมกัน ท่ามกลางอาการโล่งใจของเหล่านักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) ก็รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2562 ขยายตัว 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนจีดีพีตลอดปี 2562 ขยายตัว 6.1% ซึ่งแม้ว่ายังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายรายปีของรัฐบาลที่ 6% - 6.5% แต่ก็ชะลอตัวลงจากระดับการขยายตัวที่ 6.6% ในปี 2561 นอกจากนี้ จีดีพีปี 2562 ยังขยายตัวในอัตราที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 29 ปี

เอ็นบีเอส ระบุว่า จีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัวที่ระดับ 6% ซึ่งทรงตัวจากไตรมาส 3 แต่ยังต่ำกว่าระดับการขยายตัวในไตรมาส 2 ที่ 6.2% และในไตรมาสแรกที่ระดับ 6.4% ส่วนมูลค่าจีดีพีตลอดปี 2562 อยู่ที่ 99.09 ล้านล้านหยวน หรือ 14.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคบริการมีสัดส่วนในการเติบโตของมูลค่าจีดีพีเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

157939561878

ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้า ทำให้เกิดความกังวลว่า จีน ยังมีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนเหมือนเดิมหรือไม่ หลังจากจรดปากกาลงนามข้อตกลงการค้าเฟส1กับสหรัฐไปแล้ว ซึ่ง‘เอลเลียต แฮร์ริส’รองเลขาธิการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงด้านการค้าและเศรษฐกิจเฟสแรกที่สหรัฐและจีนได้ลงนามร่วมกัน เป็นสัญญาณบวก และจะช่วยลดความไม่แน่นอนบางประการในระบบเศรษฐกิจโลกลง

แฮร์ริส แสดงความคิดเห็นระหว่างการแถลงข่าวเปิดเผยรายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่สำนักใหญ่ของยูเอ็นในนครนิวยอร์ก ว่า ความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลงเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าถือเป็นสัญญาณบวก ซึ่งจะช่วยลดความไม่แน่นอนบางประการที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และจะทำให้เกิดการไหลเวียนทางการค้าเพิ่มขึ้น

“หวังว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือความอ่อนแอและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 ปีนี้ได้” แฮร์ริส ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้แฮร์ริส จะระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าของสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่เขายังคงเตือนว่า อย่าคิดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ทั้งหมดให้หมดไปได้ และต้องไม่คิดว่า นี่เป็นความคืบหน้าเชิงบวกในทุกๆด้าน

นอกจากจะเผยแพร่ตัวเลขจีดีพีแล้ว เอ็นบีเอส ยังระบุด้วยว่า ในปี 2562 อัตราการเกิดของจีนอยู่ที่ 10.48 ต่อ1,000 คน ลดลงเล็กน้อยจากปี 2561 และลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในปีที่ผ่านมาจีนมีทารกเกิดใหม่ 14.65 ล้านคน

157939582896

‘เหอ ยาฟู’ นักประชากรศาสตร์อิสระในมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของประเทศ กล่าวว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของภาวะอดอยากยากแค้น ที่ทำให้ชาวจีนตายไปหลายสิบล้านคน ปีนั้นมีเด็กเกิดราว 11.8 ล้านคน

ด้าน‘อี้ ฟู่เสียน’ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ในสหรัฐ กล่าวว่า แม้จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวไปแล้ว แต่ความคิดของคนจีนเปลี่ยนไป คนสมัยนี้ชอบมีลูกน้อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าครองชีพสูง ประกอบกับบริการเลี้ยงเด็กในจีนแพงและหายากส่งผลให้คนจีนไม่อยากมีลูก

นักวิชาการรายนี้เชื่อว่า ประชากรจีนสูงกว่าที่คาด และจากงานที่เขาทำจำนวนประชากรแท้จริงเริ่มลดลงในปี 2561 จากตัวเลขทางการ ประชากรจีนเมื่อสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 1.4 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 4.67 ล้านคนจากปี 2561

ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 รัฐบาลหลีกเลี่ยงวิกฤติประชากรศาสตร์ด้วยการผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียว ด้วยการอนุญาตให้ครอบครัวมีลูก 2 คนได้ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้การตั้งครรภ์เพิ่ม ซึ่ง เหอ กล่าวปิดท้ายว่า แม้สุดท้ายแล้วจีนอาจจะเลิกคุมจำนวนการมีบุตร แต่ขณะนี้ชาวจีนที่มีลูก 3 คนก็ยังถูกลงโทษ แม้ว่าบางพื้นที่จะลดมาตรการลงโทษลงมาแล้วก็ตาม

การที่ประชากรมีอัตราการเกิดต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมจีนมีสัดส่วนของผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ย่อมไม่ดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ในความเป็นจริงแล้ว สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มปรากฏมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการอ่อนแรงลงของการบริโภคในจีนที่ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ลดลง ตัวเลขค้าปลีกซบเซา ประกอบกับระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกดดันให้คนจีนลังเลที่จะจับจ่าย เท่ากับยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะขาลงจากสงครามการค้าและการปรับโครงสร้างภาคการผลิตจากสินค้าแรงงานเข้มข้นสู่ผลิตภัณฑ์เน้นเทคโนโลยี

157939563682

รัฐบาลปักกิ่ง พยายามประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนักด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ทั้งลดภาษี ลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ ออกโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า ปีนี้รัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหลายระลอก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีน ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหม่ จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออย่างรอบคอบและเลี่ยงที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เหมือนอย่างในช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน