‘ตะวันออกกลาง’ตลาดงานเสี่ยงแต่เงินดีของแรงงานอาเซียน

‘ตะวันออกกลาง’ตลาดงานเสี่ยงแต่เงินดีของแรงงานอาเซียน

‘ตะวันออกกลาง’ตลาดงานเสี่ยงแต่เงินดีของแรงงานอาเซียน ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่ทำให้แรงงานอพยพในตะวันออกกลางตัดสินใจละทิ้งงานเพื่อกลับประเทศบ้านเกิด

สำหรับแรงงานอพยพในอาเซียนแล้ว การมาทำมาหากินในประเทศต่างๆในภูมิภาคตะวันออกกลางเปรียบเหมือนแดนสวรรค์ของการทำเงิน สร้างรายได้เลี้่ยงครอบครัวเพราะฉะนั้น สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านในช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้บางประเทศเตรียมอพยพแรงงานของประเทศตัวเองกลับบ้านเกิดเมืองนอน จึงไม่มีผลต่อแรงงานอพยพกลุ่มนี้ที่พร้อมอยู่แบบเสี่ยงแต่ได้รับค่าแรงสูงจนพูดได้ว่าคุ้ม

เวิลด์แบงก์ หรือธนาคารโลก ระบุว่า ในบรรดาแรงงานอพยพทั้งหมดที่เข้ามาขายแรงงานในตะวันออกกลาง แรงงานชาวอินเดียและฟิลิปปินส์ เป็นสองประเทศที่ส่งเงินกลับบ้านปีละหลายพันล้านดอลลาร์ด้วยกัน เฉพาะแรงานชาวอินเดียที่เข้ามาอยู่และทำงานในตะวันออกกลางจำนวนมากถึงเกือบ 9 ล้านคน ส่งเงินกลับประเทศเมื่อปี 2560 เป็นจำนวนเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์

ประเด็นแรงงานอพยพในอาเซียนกับภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นเรื่องที่สร้างผลประโยชน์ให้แก่กันและกัน แตกต่างจากหลายประเทศในตะวันตก ที่ประเด็นผู้อพยพหรือแรงงานอพยพกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ที่จุดชนวนไปสู่ปัญหาขัดแย้งในวงกว้างขึ้นได้เสมอ หลายประเทศในตะวันออกกลางต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีประชากร 9 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 90% เป็นต่างชาติ ส่วน10ประเทศที่มีผู้อพยพในสัดส่วนมากที่สุดนั้น 7 ประเทศเป็นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง

157939518059

‘อะนิตา ชาโมลิ’แม่บ้านในเมืองนอยดา ชานกรุงนิว เดลี มีลูกสาวหนึ่งคนทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มา4 ปีแล้ว

“เราไม่สบายใจเลยเมื่อรู้ว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดจากปัญหาขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ฉันอยากให้ลูกกลับมาอินเดีย แต่เธอไม่สนใจเพราะทำงานที่นั่นได้เงินดีและมีโอกาสในการทำงานดีกว่าที่อื่น รวมทั้งในอินเดียเอง”ชาโมลิ กล่าว

แรงงานฟิลิปปินส์จำนวนมากก็เข้ามาทำมาหากินในตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน จากข้อมูลกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่า มีแรงงานชาวฟิลิปปินส์ทำงานในตะวันออกกลางประมาณ 2.1ล้านคนและแรงงานเหล่านี้ก็มีมุมมองเหมือนแรงงานชาวอินเดียที่ยินดีทำงานในตะวันออกกลางต่อไปเพราะได้เงินดีแม้ว่าจะเกิดสงครามขึ้นในภูมิภาคนี้ก็ตาม

‘รูบี้ ลอส บานอส’ชาวฟิลิปปินส์วัย 39ปี ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลที่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งในอิรัก ได้โพสต์วิดีโอบนยูทูบ เป็นช่วงพาทัวร์ในเมืองเออรบิล ของอิรักเมื่อวันที่ 9 ม.ค.หนึ่งวันหลังอิหร่านยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐในเมืองอัล อัสซาด พร้อมระบุว่า “ไม่มีระเบิด ไม่มีการโจมตีรูปแบบใดๆ ธุรกิจยังคงดำเนินไปตามปกติ”

157939520242

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์พยายามนำแรงงานชาวฟิลิปปินส์กลับบ้านทันที ทั้งแรงงาน 1,640 คนในอิรัก และ 1,600 คนในอิหร่าน หลังจากสหรัฐลอบสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานีเสียชีวิต ซึ่งปรากฏว่าแรงงานจำนวนมากปฏิเสธที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน

“เราพูดคุยกันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีใครอยากกลับฟิลิปปินส์เพราะการอยู่ตะวันออกกลางทำให้เรามีรายได้มากขึ้น ”ลอส บานอส กล่าว

ลอส บานอส ซึ่งทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลประจำกองทัพสหรัฐในอิรัก ได้เงินเดือนเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ไม่รวมโบนัสเมื่อบริษัทของเธอสัมปทานสัญญาใหม่ได้ เทียบกับงานในตำแหน่งเดียวกันในฟิลิปปินส์ที่ได้เงินเดือนเดือนละประมาณ 300-400 ดอลลาร์ และเธอซึ่งเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวส่งเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้พ่อแม่ที่ฟิลิปปินส์ที่ช่วยเลี้ยงลูกชายวัย 7 ขวบให้เธอ

ด้าน‘เฮอร์มินิโอ โคโลมา’ ผู้อำนวยการฝ่ายสารนิเทศทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์อิหร่าน-สหรัฐตึงเครียด กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน เพื่อใช้มาตรการต่าง ๆ รักษาความปลอดภัยให้พลเมืองชาวฟิลิปปินส์ที่พำนักอยู่ในสองประเทศ

โคโลมา กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานในตะวันออกกลางจำนวนมาก เฉพาะในซาอุฯ ก็มีจำนวนถึง 1 ล้านคน จึงเป็นกลุ่มพลเมืองจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความมั่นคงทั้งทางตรงและทางอ้อม

ถึงแม้แรงงานฟิลิปปินส์จะชื่นชอบการค้าแรงงานในตะวันออกกลางแค่ไหน แต่ล่าสุด เกิดคดีสาวใช้ชาวฟิลิปปินส์ ถูกนายจ้างในคูเวตฆ่าข่มขืน ซ้ำรอยเหตุที่ทำให้เกิดความบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศเมื่อปี2561 ทำให้ทางการฟิลิปปินส์ ประกาศห้ามแรงงานชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมด ทุกสาขาอาชีพ เดินทางไปทำงานที่คูเวต ประเทศในตะวันออกกลาง

157939516783

รัฐบาลฟิลิปินส์ กล่าวหาทางการคูเวตว่า ปกปิดสาเหตุการเสียชีวิตของสาวใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 240,000 คน ที่กำลังทำงานอยู่ที่คูเวต และหนึ่งในหลายล้านคน ที่ออกไปทำงานต่างแดน เพื่อหาเงินส่งให้ครอบครัวที่ฟิลิปปินส์ ทำให้ยอดเงินส่งกลับประเทศ จากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดน ครองส่วนแบ่งประมาณ 10 % ของเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ

‘ซัลววาดอร์ พาเนโล’ โฆษกของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต กล่าวว่า ผลการตรวจชันสูตรศพซ้ำ โดยเจ้าหน้าที่ทางการฟิลิปินส์ บ่งชี้ว่า น.ส.จีเนลีน วิลญาเวนเด แรงงานสาวใช้ในบ้านที่คูเวต ถูกข่มขืนและเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว

พาเนโล กล่าวด้วยว่า คำสั่งห้ามใหม่จะยกเลิกก็ต่อเมื่อ ทางการคูเวตตกลงที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมด ในข้อตกลงที่ลงนามร่วม หลังเกิดความขัดแย้งเมื่อปี 2561 ซึ่งกำหนดให้คูเวตรับประกันความมั่นคงและความปลอดภัยแก่แรงงานชาวฟิลิปปินส์ทุกคนในประเทศ