‘25 เขต’ กทม. รุกแก้ปัญหา ‘ฝุ่นพิษ’

‘25 เขต’ กทม. รุกแก้ปัญหา ‘ฝุ่นพิษ’

ฝุ่นละออง ยังคงเป็นปัญหาหนักหน่วงสำหรับชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะผลตรวจวัดค่า PM2.5 ช่วงเวลา 13.00-15.00 น. ของวานนี้ (18ม.ค.)มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยังคงมีค่าเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ขณะรัฐบาลและกรมควบคุมมลพิษเร่งหาแนวทางสร้างการรับรู้ในการป้องกันแลหลีกเลี่ยงฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ติดตามได้จากรายงาน

วานนี้ (18 ม.ค.) กรุงเทพมหานคร เดินหน้าดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในบริเวณที่พบปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จำนวน 25 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) 2.เขตพญาไท หน้าแฟลตทหารบกใกล้โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ตรงข้ามกระทรวงการคลัง 3.เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมัน เอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95 4.เขตปทุมวัน บริเวณหน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ 5.เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า 7.เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ 8.เขตจตุจักร บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

9.เขตบางกะปิ ข้างป้อมตำรวจตรงข้ามสำนักงาน เขตบางกะปิ 10.เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ 11.เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน 12.เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย 13.เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม (ประมาณซอยเพชรเกษม 36) 14.เขตบางเขน ภายในสำนักงานเขตบางเขน 15.เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด

16.เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน 17.เขตพระนคร ภายในสำนักงานเขตพระนคร 18.เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย 19.เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ 20.เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ 21.เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม 22.เขตสวนหลวง ด้านหน้าสำนักงานเขตสวนหลวง 23.เขตคลองสามวา ริมถนนเลียบคลองสอง 24.เขตสายไหม และ25.เขตดอนเมือง

ส่วนใหญ่มีมาตรการ เพิ่มความถี่ในการล้างถนนและฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศทางเท้า และฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ และต้นไม้ ประสานโครงการก่อสร้างอาคาร และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ให้ความร่วมมือ ฉีดพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่นละออง ทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจวัดควันดำรถยนต์ร่วมกับกองบังการตำรวจจราจรตามแผนที่กำหนด ตรวจวัดควันดำรถยนต์โดยสารสาธารณะ และรถยนต์ทั่วไป รวมถึงกวดขันการวิ่งสัญจรของรถบรรทุกปูน รวมถึง ออกปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองแก่ประชาชนและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่

ขณะที่ สถานการณ์ฝุ่นละอองประจำวันที่18 ม.ค.63 กรุงเทพมหานคร โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 เวลา 13.00-15.00 น. ตรวจวัดได้ 48-87 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 61 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยังคงมีค่าเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 31 เขต คือเขตสัมพันธวงศ์ เขตพญาไท เขตวังทองหลาง เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตจตุจักร เขตบางกะปิ เขตลาดกระบัง เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตบางเขน เขตบางพลัด เขตบางขุนเทียน เขตพระนคร เขตสาทร เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่ เขตบึงกุ่ม เขตสวนหลวง เขตลาดพร้าว เขตคลองสามวา เขตสายไหม เขตสะพานสูง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางแค เขตดอนเมือง เขตราษฎร์บูรณะ

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งมอบหมายให้ 50 สำนักงานเขต หากพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน ให้เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดถนนและทางเท้า การพ่นฉีดละอองน้ำในอากาศเพื่อดักจับฝุ่นละออง สำหรับการจัดเก็บขยะให้เจ้าหน้าที่นำรถเก็บขยะออกดำเนินการในถนนสายหลักและสายรองให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. ของทุกวัน เพื่อลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กรุงเทพมหานคร ตรวจสภาพเครื่องยนต์ตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนด ดูแลบำรุงรักษารถยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ เพื่อป้องกันไม่ให้มลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

ตลอดจนกำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ปฏิบัติงานหรือจอดรถรอรับ-ส่ง รวมถึงรณรงค์ประชาสัมพันธ์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสอบสภาพรถไม่ให้ปล่อยควันดำ งดเผาในที่โล่งแจ้ง การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีและลดมลพิษในอากาศ

ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ได้ประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนัดพิเศษ และที่ประชุมฯมีมติให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นฯ PM 2.5 ใน “สถานการณ์วิกฤติ” และให้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติโดยเร่งด่วน  เช่น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกประกาศห้ามใช้รถยนต์ที่มีมลพิษเกินมาตรฐานและการจำกัดพื้นที่และเวลาในการวิ่งรถบรรทุกดีเซลโดยเฉพาะ โดยจะมีการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกดีเซลเข้า กทม.จากวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษกและการออกข้อบังคับให้รถบรรทุกดีเซลเข้าเขตพื้นที่ชั้นในของ กทม.ได้เฉพาะวันคู่ ตามช่วงเวลาที่กำหนด ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2563

วิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในปีนี้ ทำให้สาธารณะเริ่มเห็นการนำแนวทางที่กำหนดในแผนฯ มาใช้แก้ไขปัญหาเป็นครั้งแรก และเป็นที่จับตาว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าประสบปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ในระดับวิกฤติ ซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและอาจก่อมะเร็งได้ อย่างกรุงเทพมหานครนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

157936524989

หลังจากปัญหาฝุ่นฯ PM 2.5 เริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมในวงกว้างในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดวาระแห่งชาติและจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละออง” เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศและในพื้นที่วิกฤติ

มาตรการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการฯแบ่งการจัดการเชิงพื้นที่และระยะเวลา อาทิ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล,กลุ่ม9จังหวัดภาคเหนือ เป็นต้น โดยมีมาตรการที่แตกต่างกัน แต่มุ่งจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่แตกต่างกันไปเป็นหลัก ซึ่งในระยะเร่งด่วน/ช่วงวิกฤติ ได้รับความสำคัญจากแผนฯ เป็นพิเศษ โดยมีการแบ่งการจัดการตามค่าความหนาแน่นของฝุ่นฯ PM 2.5 ในช่วงเวลานั้น เป็น 4 ระดับ แบ่งตามค่าความหนาแน่นของฝุ่นพิษ ไม่เกิน 50 มคก.ลบ.ม./ 51-75/ 76-100/ และเกิน 100 ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด