นับถอยหลัง 'วิกฤตน้ำเค็ม' ความเชื่อมโยงที่มาจากภัยแล้ง

นับถอยหลัง 'วิกฤตน้ำเค็ม' ความเชื่อมโยงที่มาจากภัยแล้ง

จริงๆ แล้ว ไทยพึ่งพิงน้ำบาดาลมาก แต่ขาดการวางแผนล่วงหน้าเพื่อพัฒนาการใช้อย่างเป็นระบบ รวมถึงใช้น้ำบาดาลเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่ นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรุกตัวของน้ำบาดาลเค็ม

บางคนเมื่อพูดถึงน้ำบาดาลจะเบือนหน้าหนี ในความเป็นจริงน้ำประปาส่วนใหญ่ถ้าไม่นับในกรุงเทพฯ เขตการประปานครหลวง และประปาภูมิภาค น้ำต้นทุนเกือบทั้งหมดมาจากน้ำบาดาล รวมทั้งน้ำดื่มสารพัดยี่ห้อล้วนมาจากใต้ดินทั้งสิ้น 

ประเทศไทยพึ่งพิงน้ำบาดาลมาก แต่ขาดการวางแผนล่วงหน้าเพื่อพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้อย่างเป็นระบบ แต่เมื่อพื้นที่ไหนประสบภัยแล้ง ขาดน้ำอุปโภคบริโภคก็จะมีการให้งบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อเจาะบ่อบาดาลขึ้นมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันทุกๆ ปีไป และยังมีอีกไม่น้อยที่แอบลักลอบเจาะบ่อโดยไม่มีการแจ้งทางการ

การใช้น้ำบาดาลเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรุกตัวของน้ำบาดาลเค็มเข้ามาในเขตน้ำบาดาลจืด จึงเป็นที่มาของ "โครงการประเมินสถานะองค์ความรู้ด้านความเค็มของน้ำและดิน ข้อมูลและปัญหาหลักด้านความเค็มของน้ำและดิน เพื่อนำไปสู่การกำหนดหัวข้อวิจัยด้านความเค็มของน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย" โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

ปัญหาหลักด้านความเค็มในประเทศไทย ได้แก่ ดินเค็ม น้ำเค็มทั้งน้ำผิวดินและน้ำบาดาล การรุกตัวของน้ำทะเล ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในแม่น้ำ แผ่นดินและในชั้นน้ำบาดาล การจัดการน้ำในพื้นที่น้ำจืดหายากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่เกาะ การเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด และการทำนาเกลือสินเธาว์และเหมืองแร่โพแทช ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อทรัพยากรในภูมิภาคต่างๆ กันตามแหล่งกำเนิดความเค็ม และกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้อง

ยกตัวอย่างปัญหาน้ำเค็มบนดินที่พบมากคือ บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และลุ่มน้ำเจ้าพระยากับท่าจีน โดยพบว่าในช่วงหน้าแล้ง น้ำทะเลหนุนทำให้เกิดผลกระทบต่อเรื่องประปา ทั้งน้ำประปานครหลวง น้ำประปาภูมิภาค ล้วนได้รับผลกระทบ

"เราใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาผลิตน้ำประปาส่วนใหญ่ เมื่อมีปัญหาน้ำเค็มเข้ามา เราก็ใช้น้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนภูมิพลลงมาไล่ คือ ใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็ม มีการทำประตูระบายน้ำกั้นน้ำ ฯลฯ ขณะที่ภาคกลางทางฝั่งปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง แม้จะมีปัญหาคล้ายกรุงเทพฯ แต่เมื่อก่อนไม่มีแหล่งน้ำสำรองขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลมาช่วยไล่น้ำเค็ม จึงต้องใช้น้ำดิบจากแหล่งที่ซื้อไว้เป็นบ่อสำรองมาผลิตแทน ตอนนี้มีอ่างเก็บน้ำใหม่ขึ้นมามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้บ้างแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาซับซ้อนกว่านั้นคือ นากุ้งอยากได้น้ำเค็ม แต่เกษตรกรและประปาอยากได้น้ำจืด"

  • นาเกลือ-นากุ้ง กับตัวแปรสำคัญคือมนุษย์

ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาสำคัญคือ ดินและน้ำบาดาลเค็ม มีการคาดการณ์กันว่าแหล่งเกลือหินใต้ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณมากถึง18ล้านล้านตัน โดยพบอยู่ใน2พื้นที่ คือ แอ่งโคราช ด้านตะวันตกเฉียงใต้และทางใต้ของเทือกเขาภูพาน และแอ่งสกลนคร ด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของเทือกเขาภูพาน

เกลือใต้ดินเหล่านี้ที่มักจะนำมาทำเกลือสินเธาว์แล้วบางทีก็ปล่อยให้น้ำที่เกิดจากการผลิตเกลือแพร่กระจาย หรือบางทีก็เป็นตามธรรมชาติ คือเมื่อพื้นที่เป็นดินเค็ม น้ำเค็มเหล่านี้ก็ไหลลงมาในลำห้วยและแม่น้ำ เพราะฉะนั้นในภาคอีสานแม้จะไม่มีทะเลก็มีความเค็มเช่นกัน

สิ่งที่จะต้องเจอแน่ๆ คือ ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาเหล่านี้เร็วขึ้น รุนแรงขึ้นคือ มนุษย์ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของมนุษย์ทำให้เกิดความเค็มที่แพร่กระจายมากขึ้นอย่างรวดเร็วคือ หนึ่ง ทำนาเกลือ สอง ทำนากุ้ง และปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการทะเลาะกันและเป็นประเด็นมากก็คือ การทำนากุ้งน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืด เช่นพื้นที่ใน จ.นครปฐม สุพรรณบุรี และตอนนี้ก็เหมือนจะแพร่ขยายไปเรื่อยๆ จนเกือบถึงนครสวรรค์แล้ว"

ฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็ม แต่มนุษย์นี่แหละที่กระตุ้นให้เกิดปัญหารุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคอีสานที่มีการทำนาเกลือกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเกลือที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี หรือที่อำเภอประทาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายความเค็มอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า