การจัดการขยะพลาสติกในต่างประเทศ

การจัดการขยะพลาสติกในต่างประเทศ

มาส่องมาตรการจัดการขยะพลาสติกของต่างประเทศ ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง และประสบผลสำเร็จจริงหรือไม่?

ลองมาดูกันว่าที่ประเทศอื่นๆ มีมาตรการรับมือกับปัญหาถุงพลาสติกล้นโลกอย่างไรกัน และแนวทางใดน่าจะเอาแบบอย่างมาปรับใช้กับไทยได้บ้าง

จริงๆ แล้ว การแบนถุงพลาสติกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เมืองไทยในความพยายามรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะขยะพลาสติกที่คนไทยใช้กว่า 2 ล้านตันต่อวันนั้น สุดท้ายก็กลายเป็นมลพิษ และส่งปัญหาอื่นๆ ตามมา อาทิ ท่อน้ำอุดตัน เจือปนในท้องของสัตว์ทะเลหรือปศุสัตว์

การจัดการรับมือกับปริมาณขยะถุงพลาสติกทั่วโลกที่มีการประมาณว่ามีจำนวนกว่า 5 แสนล้านใบต่อปีนั้น สามารถแบบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1 กลุ่มประเทศที่แบนการใช้ถุงพลาสติกเลย เช่น ไทย ฝรั่งเศส ไต้หวัน จีน และอีกหลายประเทศในแถบภูมิภาคแอฟริกา และ 2 กลุ่มประเทศที่ใช้นโยบายทางภาษีหรือราคาเป็นกำแพง เช่น สหราชอาณาจักร โปรตุเกส เดนมาร์ก เป็นต้น

การจัดการขยะพลาสติกในต่างประเทศ

ผมอยากจะเล่าตัวอย่างในสกอตแลนด์และอังกฤษ ที่ใช้นโนบายทางภาษีหรือราคาเป็นกำแพงกีดกัดการใช้ถุงพลาสติก โดยเก็บค่าถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งกับผู้ซื้อสินค้าในราคาประมาณ 2 บาทต่อถุง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่ก็ทำให้คนกระตุกได้เหมือนกัน คนส่วนใหญ่จึงไม่รับถุงพลาสติก หรือเตรียมถุงพลาสติกหรือกระเป๋าผ้ามาใช้แทน

หลายห้างที่ขายถุงหูหิ้วแบบคงทนที่ราคาสูงขึ้นมาหน่อย มีทั้งลวดลายธรรมดาและลวดลายสวยงามซึ่งสามารถซื้อไปเป็นของที่ระลึกได้เลย เช่น ลาย Mickey Mouse หรือ Harry Potter โดยรายได้จากการขายถุงเหล่านี้ก็จะนำไปบริจาคแก่องค์กรการกุศลต่าง ๆ และมีการแจกแจงยอดรายได้ตรงนี้ให้ประชาชนทราบ พูดได้ว่ายักษ์ใหญ่ค้าปลีกไม่สามารถเอาเปรียบผู้บริโภคโดยหาประโยชน์จากกฎหมายและเงินตรงนี้ได้เพราะมีกฎหมายที่ดีกำกับ!

การรณรงค์ลดใช้และแบนถุงพลาสติก จะต้องควบคู่กับการส่งเสริมการรีไซเคิลและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสมอ รัฐในยุโรปทั้งกระตุ้นและออกกฎหมายที่เปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้รู้จักการแยกขยะและนำมาใช้ซ้ำ ขยะขวดพลาสติกและกล่องนมกระดาษจะมีการล้างขวดให้สะอาดก่อนทิ้ง ขยะกระดาษ ขยะพิษ ขยะเศษอาหารก็แยกจากกันเพื่อสะดวกต่อการจัดการและนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งประเทศไทยยังห่างไกลนัก

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้วัสดุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย เช่น การออกแบบให้บรรจุภัณฑ์มีรูหรือหูจับเพื่อง่ายกับการขนย้าย หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบเติม (refill) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่แยบยลและเป็นที่นิยมที่ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก และก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคที่ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พฤติกรรมของผู้ใช้ผู้บริโภคเองที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของโลก ในยุโรปพ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม แยกขยะและรีไซเคิล จนติดเป็นนิสัย ไม่มักง่ายต่อการจัดการขยะเพราะนอกจากจะโดนว่าตักเตือนจากพ่อแม่เพื่อนฝูงในสังคมแล้ว ยังมีโอกาสเสียค่าปรับจากกฎหมายที่รัฐกำหนดอีกด้วย

ขยะจากขวดน้ำพลาสติกก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่เห็นได้น้อยในหลายประเทศในยุโรปที่น้ำประปามีความบริสุทธิ์จนสามารถดื่มได้ เพราะรัฐให้ความสำคัญกับสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดของประชาชนจึงสร้างและจัดการระบบประปาให้สะอาด น้ำที่ไหลมาจากลำธารหรือแม่น้ำต่าง ๆ เมื่อมีขยะปะปนน้อยจึงง่ายต่อการจัดการและดื่มได้ เรียกได้ว่าเป็นวัฏจักรที่สะอาดและเป็นมิตรทั้งกับกระเป๋าสตางค์และสิ่งแวดล้อม

เห็นได้ว่าผู้เล่นสำคัญในเรื่องนี้คือ หนึ่ง ผู้บริโภค สอง รัฐ และสาม บริษัทห้างร้าน เมื่อทั้งสามรู้จักหน้าที่และไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือมักง่ายจนเกินไป เราสามารถร่วมกันสร้างสังคมที่ดีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเราได้