ผลวิจัยอังกฤษชี้ '2563' ปีแห่งการประท้วงทั่วโลก

ผลวิจัยอังกฤษชี้ '2563' ปีแห่งการประท้วงทั่วโลก

วีริสก์ เมเปิลครอฟต์ เผยแพร่รายงานล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ปีนี้ มีโอกาสเกือบ40% ที่ประเทศต่างๆทั่วโลกจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย

รายงานระบุมีหลายพื้นที่หรือเกิดการลุกฮือของประชาชนในประเทศและจุดชนวนกลายเป็นความขัดแย้งในวงกว้าง อาจมีจุดเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองมีหลายประเทศ รวมทั้งในรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย  จีน ตุรกี ไทย และบราซิล

รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า ประเทศต่างๆเกือบหนึ่งในสี่ของโลกเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และสัดส่วนที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นในปีนี้

ดัชนีความไม่สงบเรียบร้อยของวีริสก์ เมเปิลครอฟต์ บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองและเศรษฐกิจสัญชาติอังกฤษ ที่เผยแพร่ล่าสุด ระบุว่า ในจำนวน 195 ประเทศไม่นับรวมวาติกันและปาเลสไตน์ มี 47 ประเทศที่เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ เมื่อปี 2562 แต่คาดการณ์ว่า ในปีนี้ จะมี 75 ประเทศที่เผชิญหน้ากับปัญหาการลุกฮือประท้วงเพื่อขับไล่ผู้นำ หรือชุมนุมประท้วงเพราะปัญหาขัดแย้งของพรรคการเมืองต่างๆ

บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองและเศรษฐกิจสัญชาติอังกฤษ ระบุว่าฮ่องกงและชิลี เป็นสองประเทศที่จุดชนวนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่เริ่มต้นปี2562 และไม่มีประเทศใดเลยในสองประเทศนี้ที่จะเข้าสู่ภาวะความสงบสุขไปอย่างน้อย 2 ปี

‘การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ’ ชนวนเหตุของการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเป็นการชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก มีชนวนเหตุมาจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ประชาชนในฮ่องกง ซึ่งมีธรรมนูญและอำนาจอธิปไตยในการบริหารจัดการด้านการเมืองด้วยตัวเองไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่า รัฐบาลฮ่องกงกำลังถูกจีนแผ่นดินใหญ่แทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย และอาจจะลุกลามไปยังประเด็นอื่นๆ เช่น การกดดันให้ชาวฮ่องกงยอมรับแนวคิดชาตินิยมและเชิดชูพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ แทนที่จะเคารพสิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยที่ชาวฮ่องกงเคยได้รับช่วงปลายยุคที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

ส่วนที่ชิลี กลางเดือนต.ค.ปีที่แล้ว รัฐบาลชิลีประกาศว่าจะมีการเพิ่มค่าโดยสาร นี่เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาวชิลีซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้วฉุนขาด นักเรียนนักศึกษาชิลีเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาประท้วง ก่อนคนจากภาคส่วนต่าง ๆ จะออกมาร่วมบนท้องถนนเมืองซานดิเอโก้กว่าหนึ่งล้านคน

ประชาชนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ และสถานการณ์แย่ลงถึงขั้นมีการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก

ส่วนอิรัก เป็นประเทศที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่น และสถานการณ์สงครามรุมเร้าติดต่อกันมาเป็นเวลานาน แต่การประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เป็นเพราะปัญหาปากท้อง ร่วมเข้ากับปัญหาว่างงาน นำการประท้วงโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ส่วนพื้นที่อื่นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงคือ ไนจีเรีย เลบานอน และโบลิเวีย ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะเกิดการลุกฮือของประชาชนในประเทศคือ เอธิโอเปีย อินเดีย ปากีสถาน และซิมบับเว 

 ขณะที่ซูดาน กลายเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศมาตั้งแต่การสำรวจครั้งที่แล้ว โดยซูดานตกอยู่ในภาวะวิกฤติจนมีสภาพไม่ต่างกับสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่ผู้ปกครองคือโอมาร์ อัล-บาชีร์ ถูกโค่นอำนาจเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว

ดัชนีของเมเปิลครอฟต์ ยังคาดการณ์ว่า 75ประเทศจากทั้งหมด 125 ประเทศจะมีเสถียรภาพทางการเมืองแย่ลงซึ่งหมายความว่าเกือบ 40% ของ 195 ประเทศทั่วโลกจะเผชิญหน้ากับความปั่นป่วนและการประท้วงของประชาชนในประเทซ โดยประเทศที่จะมีประชาชนลุกฮือมากที่สุดคือ ยูเครน กินี บิสเซา ทาจิกิสถาน และประเทศเหล่านี้จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีการตอบโต้ด้วยกำลังอย่างรุนแรงของทหารหรือตำรวจในประเทศนั้นๆต่อประชาชน

รายงานชิ้นนี้ ยังระบุว่า ผลศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า บรรดาบริษัทชั้นนำของโลกที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เช่น เป็นแหล่งเหมืองและแหล่งพลังงานน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จำเป็นต้องมีมาตรการตั้งรับความไม่สงบเรียบร้อยที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจไม่สะดุดซึ่งจะมีผลต่อการทำรายได้และสร้างผลกำไรโดยรวมของบริษัท