ขาลง ‘โบอิง’ เปิดโอกาส สายการบินอาเซียน

ขาลง ‘โบอิง’ เปิดโอกาส สายการบินอาเซียน

คำสั่งห้ามเครื่องบิน "โบอิง 737" ตระกูลแม็กซ์ ขึ้นบินสร้างความปวดหัวแก่สายการบินทั่วโลก แต่สำหรับสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่อเค้าว่าเป็นผลดีมากกว่าผลร้าย

           ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยอดการสั่งซื้อเครื่องบินและยอดการส่งมอบเครื่องบินจริงๆยังไม่สอดคล้องกัน  เพราะฉะนั้น สายการบินในอาเซียนจึงมีโอกาสที่จะประเมินความต้องการในการใช้เครื่องบินโดยสารได้ใหม่อีกครั้ง       

         ซิลค์แอร์ หน่วยงานในเครือของสิงคโปร์ แอร์ไลน์  สายการบินการูดา อินโดนีเซีย และไลออน แอร์ กรุ๊ป เลิกใช้เครื่องบินตระกูล737แม็กซ์ที่มีอยู่ 20 ลำขึ้นบินเลยนับตั้งแต่มีการประกาศให้เครื่องบินรุ่นนี้ยุติการให้บริการเมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว และสายการบินเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากสายการบินอื่นๆในเอเชียใช้เครื่องบินโดยสารรุ่นอื่นๆมาให้บริการผู้โดยสารเพื่อให้ธุรกิจการให้บริการเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด

          ปัจจุบัน มีสายการบินในอาเซียน 7 แห่งที่มีเครื่องบินโดยสารตระกูลแม็กซ์ของโบอิงจำนวนกว่า 580 ที่ไม่ได้ขึ้นบิน แต่ช่วงที่่โบอิง ยังไม่ได้รับอนุญาติให้นำเครื่องบินรุ่นนี้ออกให้บริการ น่าจะเป็นโอกาสเหมาะที่สายการบินในอาเซียนควรชะลอแผนขยายเที่ยวบินเอาไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ของสายการบินเอง เนื่องจากส่วนใหญ่ของสายการบินประมาณ 20 แห่งที่รายงานผลประกอบการปี2561 ไม่มีสายการบินใดมีผลกำไรเลย และสภาวะทำกำไรไม่ได้ลากยาวมาจนถึงช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2562

    มาเลเซีย แอร์ไลน์ โทษว่าเป็นเพราะการแข่งขันที่ดุเดือดและการที่มีที่นั่งในเที่ยวบินเยอะกว่าจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการจริงๆในแต่ละเที่ยว ทำให้สายการบินทำรายได้ไม่ได้ตามเป้า และมีความเป็นไปได้สูงว่าในปี 2562 สายการบินจะประสบภาวะขาดทุนแทนที่จะทำกำไรได้ โดยปีที่ผ่านมา สายการบินสัญชาติมาเลเซียทั้ง 6 แห่ง ไม่มีใครทำกำไรได้เลย แม้ว่าเมื่อพิจารณาการเติบโตระยะยาวแล้ว  ตลาดการบินพลเรือนของอาเซียนยังมีแนวโน้มสดใสก็ตาม และในระยะสั้น มีเครื่องบินจำนวนมากที่จะถูกนำมารวมกับฝูงบินที่มีอยู่ในปัจจุบัน จนเรียกได้ว่ามากเกินไป โดยทุกวันนี้ ฝูงเครื่องบินโดยสารแบบลำตัวแคบในอาเซียนมีจำนวนไม่ถึง 1,200 ลำ แต่คำสั่งซื้อกลับสูงถึง1,500 ลำ

   

แม้ลูกค้าของโบอิงในตลาดอาเซียนบางรายจะขู่ระงับคำสั่งซื้อโบอิง 737 แม็กซ์ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอย่างนั้น สายการบินหลายแห่งเลือกที่จะเจรจาเพื่อขอชลอการส่งมอบ หรือไม่ก็ขอเปลี่ยนเป็นเครื่องบินโดยสารรุ่นอื่น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับโบอิง เช่น การชลอการส่งมอบเครื่องบิน จะช่วยให้โบอิงจัดลำดับความสำคัญการส่งมอบเครื่องบินให้ลูกค้าเสียใหม่ โดยส่งมอบให้แก่ลูกค้าในภูมิภาคอื่นที่มีความต้องการใช้เครื่องบินแบบทางเดินเดียวมากกว่าแทน และสถานการณ์นี้จะช่วยให้โบอิง สามารถเพิ่มคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นอื่นๆที่ยอดขายยังตามหลังโบอิง 737 แม็กซ์ได้ด้วย

    ลูกค้าในตลาดอาเซียนอาจจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องบินโดยสารรุ่น 787 และรุ่น 777 เอ็กซ์เอส หรือแม้แต่เครื่องบินลำตัวแคบรุ่นใหม่ที่โบอิงวางแผนจะพัฒนาขึ้นมาในอนาคต ที่มีชื่อว่าเอ็นเอ็มเอ หรือ “เครื่องบินโดยสารขนาดกลางรุ่นใหม่”เป็นเครื่องบินรุ่นที่โบอิงตั้งใจทำตลาดในปีนี้ หากได้รับการอนุมัติจากคณะผู้ควบคุมกฏระเบียบ ในการเข้าซื้อหุ้นข้างมากในหน่วยงานด้านการผลิตเครื่องบินเชิงพาณิชย์ของบริษัทเอ็มเบรเออร์ ผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของบราซิล

    มาเลเซีย แอร์ไลน์ ชะลอการรับมอบเครื่องบินตระกูลแม็กซ์ลำแรกตั้งแต่ปี 2563 ไปจนถึงอย่างน้อยก็ปี 2566 และขณะนี้กำลังตัดสินใจที่จะลดจำนวนคำสั่งซื้อหรือไม่ก็ล้มแผนซื้อไปเลย เนื่องจากสายการบินกำลังปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่

  ส่วนสายการบินการูดา กำลังเล็งสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเอ็นเอ็มเอ  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนแผนมีฝูงบินลำตัวแคบ ซึ่งสายการบินอาจจะสั่งซื้อเครื่องบินลำตัวแคบรุ่นใหม่มาให้บริการลูกค้า  

    สิงคโปร์ แอร์ไลน์ เป็นอีกสายการบินหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนจากเครื่องบินตระกูลแม็กซ์ไปหาเครื่องบินรุ่นอื่นของโบอิง ขณะที่เวียตเจ็ทและไลออน แอร์ ซึ่งมีเครื่องบินตระกูลแม็กซ์ ที่ประสบเหตุตกเมื่อเดือนต.ค.ปี 2561 ต่างสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นเจ้าปัญหาจำนวนมาก

         ช่วงปลายปีที่ผ่านมา โบอิง ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า บริษัทจะระงับการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์เป็นการชั่วคราว โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. ปีนี้ เนื่องมาจากความกังวลด้านความปลอดภัย หลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ของโบอิงตกถึง 2 ครั้ง และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

        ขณะนี้ โบอิง มีเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ค้างสต็อกอยู่จำนวน 400 ลำ เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินได้สั่งระงับการขึ้นบินของเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ โบอิงจึงตัดสินใจที่จะนำเครื่องบินที่เหลืออยู่ในสต็อกออกมาทยอยส่งมอบให้กับลูกค้า และจะระงับการผลิตเครื่องบิน 737 แม็กซ์เป็นการชั่วคราว

        การตัดสินใจระงับการผลิตเครื่องบิน 737 แม็กซ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของระยะเวลาและเงื่อนไขในการนำเครื่องรุ่นดังกล่าวกลับมาให้บริการอีกครั้ง ซึ่งการระงับการผลิตเครื่องบิน 737 แม็กซ์ที่โรงงานในเมืองเรนตัน รัฐวอชิงตัน สหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อพนักงาน 12,000 คนที่โรงงานดังกล่าว แต่บริษัทยังไม่ปลดพนักงานในโรงงานแห่งนี้ แต่คาดว่าการตัดสินใจยุติการผลิตเครื่องบิน 737 แม็กซ์ชั่วคราว จะกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินให้โบอิง 900 แห่งทั่วโลก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐด้วย

        สำหรับโบอิงแล้ว  นี่ถือเป็นวิกฤติ เพราะบริษัทต้องเสียค่าปรับจากการส่งมอบเครื่องบินล่าช้าและสูญเสียรายได้จากการผลิตที่ลดลง ซึ่งอาจเสียหายมากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ และขณะนี้ โบอิงยังไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินให้กับผู้สั่งซื้อได้ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินได้อีกครั้ง แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตก โบอิงก็ลดกำลังการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ลงไปจาก 52 ลำต่อเดือนเหลือเพียง 42 ลำ และผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลงก็ทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทลดลงถึง 35%