‘สี จิ้นผิง’ เยือนเมียนมาดัน ‘บีอาร์ไอ’

‘สี จิ้นผิง’ เยือนเมียนมาดัน ‘บีอาร์ไอ’

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ หวังช่วยค้ำจุนรัฐบาลอองซาน ซูจี ที่กำลังมีปัญหา และผลักดันข้อตกลงโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเดินทางถึงกรุงเนปิดอว์ ในโอกาสเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการวานนี้ (17 ม.ค.) ทางหลวงกว้างใหญ่และสนามหญ้าที่ได้รับการดูแลอย่างดีในเมืองหลวง ถูกตกแต่งงดงามด้วยป้ายสีแดงพร้อมภาพใบหน้าประธานสี บรรยายด้วยข้อความต้อนรับทั้งภาษาพม่า และจีนกลาง

สีมีกำหนดลงนามข้อตกลงโครงสร้างพื้นฐานหลายฉบับ ส่วนหนึ่งของโครงการสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) แผนการค้าระดับโลกที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของเมียนมาไปเลย

หัวใจสำคัญของโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” (ซีเอ็มอีซี) คือ ท่าเรือน้ำลึกมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ในเมืองจ็อกผิ่ว ตอนกลางรัฐยะไข่ ที่เปิดประตูเชื่อมจีนสู่มหาสมุทรอินเดีย ใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าเรือเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายแดนจีน

จีนเป็นสายชูชีพทางเศรษฐกิจสำหรับเมียนมา ประเทศที่ต้องระแวดระวังว่าอิทธิพลของเพื่อนบ้านมหาอำนาจรายนี้กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน

ปี 2562 จีนและเมียนมาค้าขายกันคิดเป็นมูลค่า 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ จีนเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่สุดราว 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 40% ของหนี้ต่างประเทศเมียนมา แต่ละปีก๊าซธรรมชาติหลายพันล้านลูกบาศก์เมตรและน้ำมันหลายล้านบาร์เรลที่ขุดได้นอกชายฝั่งถูกส่งข้ามเมียนมาไปยังจีน

สำหรับการเยือนครั้งนี้ หลังจากพิธีต้อนรับและงานเลี้ยงอาหารค่ำเมื่อวันวานแล้ว ประธานาธิบดีสีจะแยกหารือกับอองซาน ซูจี และมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมาในวันนี้ (18 ม.ค.)โดยก่อนที่ประธานาธิบดีสีเดินทางมาถึง ซูจีได้เดินทางไปรัฐกะฉิ่นชายแดนจีนที่เธอไม่ค่อยไปบ่อยนัก

กะฉิ่นเป็นรัฐที่ตั้งโครงการเขื่อนพลังน้ำ “มิตโสน” ขนาด 6,000 เมกะวัตต์ มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ที่จีนสนับสนุน แต่ถูกวิจารณ์รุนแรงจากประชาชนทั่วประเทศ จนต้องพับแผนไปในปี 2554 เรื่องนี้ถูกมองว่า เป็นการหักหน้าสี เพราะเขาเป็นคนลงนามโครงการเขื่อนมิตโสนกับรัฐบาลทหารเมียนมาในฐานะรองประธานาธิบดีจีน เมื่อปี 2552

งานนี้คาดว่านักเคลื่อนไหวจะรวมตัวประท้วงที่นครย่างกุ้งไม่ให้รัฐบาลรื้อฟื้นโครงการ

157927706424

นอกเหนือจากผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้ว การที่เมียนมามีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจก็เอื้อประโยชน์ด้านอื่นให้ด้วย สัปดาห์นี้สื่อรัฐเสนอบทความหน้าตรงข้ามบทบรรณาธิการ ระบุ สีกล่าวว่า จีนสนับสนุนให้เมียนมาปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรม รวมถึงเกียรติภูมิแห่งชาติ

เรื่องนี้เห็นชัดในสหประชาชาติ จีนช่วยปกป้องเมียนมา ที่ถูกกดดันหนักให้รับผิดชอบวิกฤติโรฮิงญา

เดือนก่อนซูจีนำทีมเมียนมาสู้ข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของยูเอ็น กรณีทหารปราบปรามประชาชนในรัฐยะไข่ปี 2560 บีบให้ประชาชน 740,000 คนต้องหนีตายเข้าไปในบังกลาเทศ

แม้เมียนมาประกาศว่า รัฐยะไข่เปิดกว้างสำหรับภาคธุรกิจ แต่นักลงทุนตะวันตกก็ไม่เข้ามา ส่วนจีนที่แข่งกับยักษ์ใหญ่เอเชียรายอื่นๆ ก็เข้ามาเพียงไม่กี่ราย

ส่วนซูจีนั้นต้องการทั้งชัยชนะด้านเศรษฐกิจและการสนับสนุนทางการทูต เพราะต้องลงสนามเลือกตั้งอีกครั้งสิ้นปีนี้ แต่ชาวบ้านยะไข่ยังกลัวว่า พวกตนจะถูกละเลยตัวอย่างจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จีนหนุนหลังชุดก่อนๆ ทำให้ชาวบ้านไร้ที่ดินทำกิน การดำเนินชีวิตได้รับผลกระทบ

“พวกเขาไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้เราเลย แม้แต่งานก็ไม่มีให้ทำ” โม โม อายจากกลุ่มจับตาเขตเศรษฐกิจพิเศษจ็อกผิ่ว โอดครวญกับเอเอฟพี