'ซีไอเอ็มบี' หนุนบิ๊กธุรกิจไทย ขยายลงทุน 'กัมพูชา'

'ซีไอเอ็มบี' หนุนบิ๊กธุรกิจไทย ขยายลงทุน 'กัมพูชา'

"ซีไอเอ็มบีไทย" หนุนธุรกิจไทยทั้งขนาดกลาง และรายใหญ่ ขยายลงทุน"กัมพูชา" เผยหลายบริษัทมีแผนซื้อและควบรวมกิจการ ลุ้นปิดดีลใหม่ได้ปีนี้ หวังดันสินเชื่อธุรกิจที่ลงทุนในกัมพูชาโตถึง 30% ส่วนภาพรวมสินเชื่อธุรกิจปีนี้คาดโตไม่ต่ำกว่า 20%  

นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน) (CIMBT)  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่15 -17 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้นำนักธุรกิจทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ของธนาคารกว่า 15 บริษัท  ซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดกลางที่มียอดขาย 5,000-10,000 หมื่นล้านบาท และรายใหญ่ที่มียอดขายเกิน 10,000 หมื่นล้านบาท ไปศึกษาหาช่องทางการทำธุรกิจในกัมพูชา   เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่ศักยภาพและมีโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตต่อเนื่องทุกปี ฉลี่ย 7% โครงสร้างประชากรมีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงจำนวนมาก  หนุนการบริโภคในระยะข้างหน้าให้เติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสม และประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุน้อย เฉลี่ยที่ 25 ปีเท่านั้น  ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการเสริมศักยภาพธุรกิจในระยะต่อไปได้

เขากล่าวว่า ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มีศักยภาพเพียงพอในการตอบโจทย์ลูกค้า จากเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก ทั้งในด้านสินเชื่อ และการให้บริการชำระเงินข้ามประเทศ  ในกัมพูชา มีสาขาของธนาคารซีไอเอ็มบีถึง 14 สาขา  เฉพาะกรุงพนมเปญมีถึง 10 สาขา รองรับการให้บริการกับลูกค้าทุกกลุ่ม แต่กว่า 70% เป็นการให้บริการสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เหลือเป็นธุรกิจรายใหญ่

“เราพบว่า มีหลายอุตสาหกรรมที่น่าเข้ามาลงทุนมากขึ้น เช่น สาธารณูปโภค  เนื่องจากกัมพูชายังขาดไฟฟ้า ต้องซื้อไฟจากต่างประเทศ , สินค้าอุปโภคบริโภค, ธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม และ เทคโนโลยีการเกษตร ฯลฯ  ยังมีทิศทางการเติบโตอีกมากในอนาคต”

ปัจจุบัน มีลูกค้าธนาคาร ทั้งธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น โดยหลายบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อเข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชา โดยเฉพาะการซื้อกิจการ และการควบรวมกิจการของธุรกิจไทย ที่คาดว่าจะมีโอกาสปิดดีลได้ภายในปีนี้

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อภาคธุรกิจที่เข้ามาทำธุรกิจในกัมพูชา คาดว่าจะเห็นการเติบโตราว 30% ปีนี้  จากปีก่อนที่มีการเติบโตจากธุรกิจรายใหญ่ราว 20%  แต่หากดูสินเชื่อธุรกิจในภาพรวมของธนาคาร เชื่อว่า มีโอกาสเติบโตด้านสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 20%  จากก่อนที่เติบโตราว 15% โดยปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อธุรกิจคงค้างอยู่ราว 80,000 ล้านบาท

เขากล่าวต่อว่า ธุรกิจไทยยังสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม  ธนาคารจะเข้าไปตอบโจทย์ เป็นพาร์ทเนอร์คอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง 

“ลูกค้าที่สนใจลงทุนในกัมพูชา มีทั้งต้องการเข้าไปซื้อกิจการ หรือเทคโอเวอร์บางธุรกิจ และขยายกิจการที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาลูกค้า ทั้งการให้สินเชื่อ การให้ข้อมูลเชิงลึกในการทำธุรกิจ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนการเติบโตให้กับลูกค้า  มุ่งหวังเป็นพาร์ทเนอร์มากกว่าการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นจุดแรกที่เราอยากได้คือ ความไว้วางใจ จะทำให้อยู่ยาว เราไม่เก่งทุกเรื่อง แต่สิ่งที่เน้นย้ำตลอด คือความเชี่ยวชาญในอาเซียน นี่คือจุดแตกต่างที่ซีไอเอ็มบีมี ”