สมรภูมิมือถือยัง 'เดือด' แม้ 'ดีแทค' เปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก

สมรภูมิมือถือยัง 'เดือด' แม้ 'ดีแทค' เปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก

ช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับธุรกิจสื่อสารกับการประมูลคลื่น 5 G เกิดขึ้นในเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้ กลับเกิดปรากฎการณ์ที่สร้างความกังขาถึงยุทธศาสตร์ของค่ายมือถือสีฟ้า จากฝั่งเทเลนอร์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC

ด้วยการประกาศลาออกของแม่ทัพหญิงคนแรก ‘อเล็กซานดรา ไรช์ ‘จากการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2563 และแต่งตั้ง ‘ชารัด เมห์โรทรา’ ขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนทันที

กระแสที่เกิดขึ้นพุ่งเป้าไปที่ ศึกประมูล 5G ที่ดีแทคแสดงท่าทีเข้าร่วมประมูลร่วมกับคู่แข่ง เพื่อป้องกันการแข่งขันที่ดีแทคเสียเปรียบได้ กลับขัดแย้งกับความคิดเห็นของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการประมูลในครั้งนี้

ปัจจัยดังกล่าวเคยกดดันธุรกิจของดีแทคก่อนหน้ากับการไม่สู้ราคาประมูล 4 G ปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นการประมูลด้วยราคาที่สูงอันดับต้นของโลก และกลายเป็นภาระหนักให้กับโอปอเรเตอร์ที่ได้ไป ทั้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE

ดีแทค แม้จะไม่ได้คลื่นไป ไม่มีภาระหนักด้านทุนหรือหนี้สิน แต่กลับต้องเผชิญปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน เพราะจำนวนคลื่นในมือสู้อีก 2 รายไม่ได้ และที่มีอยู่ใกล้จะหมดอายุสัญญา การสูญเสียฐานลูกค้าในกลุ่มเติมเงินซึ่งถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่การมีเปลี่ยนแปลงหันไปใช้โอปอเรเตอร์รายอื่นได้ง่าย จากการแข่งขันตัดราคาแพ็กเกจ ส่งผลทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดดีแทคลดลงอย่างต่อเนื่องจนหล่นมาอยู่ที่อันดับ 3 ในปัจจุบัน

ด้านผลประกอบการสะท้อนถึงภาวะความยากลำบากดีแทคในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงทั้งรายได้และกำไร จนถึงขั้นขาดทุนเป็นครั้งแรกรอบ 11 ปี ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 และทำให้ทั้งปีพลิกขาดทุนทันที 4,368.69 ล้านบาท

จุดอ่อนที่ดีแทคเผชิญเป็นสิ่งที่เทเลนอร์และผู้บริหารเห็นตัวเลขอยู่แล้ว ทำให้เห็นการแก้วิกฤติด้านคลื่นที่มีไม่พอ ด้วยการยอมเช่าคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ มีทั้งหมด 60 เมกะเฮิรตซ์ รองรับให้บริการด้านดาต้า จาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในอัตรา 4,510 ล้านบาทต่อปี และยังรองรับ คลื่นที่ใกล้หมดอายุสัปทานที่มีอยู่ในมือ ทั้ง 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ปี 2561

รวมทั้งการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลแต่ไร้แรงกดดันจากคู่แข่งกับคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 2562 บนราคาตั้งต้นที่รวม 56,444 ล้านบาท และดีแทคได้ไปในราคา 17,584 ล้านบาท  ทำให้ดีแทคกลับมาศักยภาพแข่งขันอีกครั้ง  ซึ่งมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ซีอีโอ หญิงคนแรกขององค์กรจาก ‘ลาร์ส นอร์ลิ่ง‘ เป็น ‘อเล็กชานดรา ไรซ์’

ซีอีโอหญิงคนแรกของดีแทคสามารถเข้ามาทำพลิกบริษัทกลับมามีกำไรได้ในช่วง 9 เดือน ปี 2562 อยู่ที่ 4,919.97 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนตัดค่าเสื่อมใบอนุญาตที่ลดลง และการไม่มีภาระหนี้จากการประมูล 4 G ก่อนหน้านี้ทำให้ดีแทค มีกำลังพอในการทุ่มเงินลงทุนขยายฐานสถานี 3G และ 4 G ไปแล้วสิ้นปี 2561 ที่ 80,000 สถานีทั่วประเทศ  

ที่สำคัญแม้ว่าจะเผชิญภาวะขาดทุนแต่ดีแทคกลับจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ก้อนโตทำให้ในปีดังกล่าวมีการจ่ายปันผลออกมา เกือบ 3,000 ล้านบาท หรือการหันไปจับมือกับอดีตคู่แข่งที่กลายเป็นพันธมิตร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เพื่อสร้างจุดแข็งไว้สู้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง คืออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ หลังจากที่แอดวานซ์และทรู ใช้การแข่งขันค่าโทรพ่วงแพ็กเกจบอร์ดแบนด์ เมื่อสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมาจนทำให้เกิดสงครามราคาในช่วงหนึ่ง  ซึ่งดีแทคยอมกระโดดลงไปเล่นในสงครามนี้ด้วย

หากจะบอกว่าการที่เทเลนอร์ อาจจะไม่เห็นด้วยกับการประมูล 5G ในครั้งนี้ที่มีคลื่น 700 -1800 -2600 เมกะเฮิรตซ์และ 26 กิ๊กกะเฮิรตซ์ ด้วยมูลค่าประมูล 54,000 ล้านบาทแถมยังมีคู่แข่งเพิ่มอีก 2 ราย คือ ทีโอที และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด อาจจะไม่ต้องการให้ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความเสี่ยงในอนาคตหากราคาประมูลแข่งขันรุนแรงเหมือน 4G ที่ผ่านมาแต่ 5G ได้มาไม่สามารถทำรายได้ทันที

ขณะเดียวกันท่าทีของเทเลนอร์และดีแทคแทบไม่ได้ยอมถอยออกจากสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดของกลุ่มโอปอเรเตอร์เลยซักนิด จากการดิ้นรนการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมา เพราะการมีผู้เล่นในตลาดแค่ 3 รายกับเค้กก้อนโตระดับแสนกว่าล้านบาท ที่มีการเติบโตใช้มือถืออย่างต่อเนื่องในไทย ถือว่าเป็นขุมทรัพย์ชั้นดี แม้จะเป็นผู้เล่นอันดับที่ 3 ก็ตาม ซึ่งกลยุทธ์นั่งอยู่บนภูผา ดูพยัคฆาต่อสู้กัน อาจจะเป็นทางเลือกที่พลิกการแข่งขันในระยะยาวให้กับดีแทคในอนาคต