'คมนาคม' เร่งแผนลงทุน เข็นทางหลวงอีอีซี 746 กม.

'คมนาคม' เร่งแผนลงทุน เข็นทางหลวงอีอีซี 746 กม.

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐเร่งการประมูลแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับรองถูกเร่งรัดเช่นกัน เพื่อให้การเดินทางและขนส่งสินค้าคล่องตัวขึ้น

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) และทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เตรียมพร้อมเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมารณประจำปี 2563 โดยขอให้เริ่มเบิกจ่ายทันที ภายหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีผลประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะเหลือเวลาในการทำงานอีกราว 6 เดือน ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องเร่งเบิกจ่าย ดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย.2563

สำหรับกรมทางหลวงได้รับจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ 115,888 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ดำเนินแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 67,287 ล้านบาท หรือ 58% ซึ่งโครงการสำคัญที่จะถูกจัดใช้ภายใต้งบประมาณปี 2563 อาทิ 1.สะพานมิตรภาพระหว่างไทย–ประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 15 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 10 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่ง มีแผนจะก่อสร้าง 4 แห่ง 

157945046171

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562 อนุมัติโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระยะทางรวม 16.18 กม. ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2563 และแล้วเสร็จปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญเพื่อพัฒนาทางหลวงรองรับอีอีซี ระยะทางรวม 746 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จครบทุกโครงการ ภายในปี 2566 รวมไปถึงโครงการขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2 ) จำนวน 11 โครงข่าย ระยะทางรวม 5,246 กิโบเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 483 กิโลเมตร หรือ 9.2% ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4,239 กิโลเมตร หรือ 80.8% และคงเหลือแผนงานในอนาคต 524 กิโลเมตร หรือ 10%

157926805047

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง ระบุว่า โครงการพัฒนาของกรมทางหลวงเพื่อเพิ่มศักยภาพให้อีอีซีตามแผนงานปี 2563 พบว่า มี 8 โครงการ ระยะทางรวม 154.68 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างรวมประมาณ 27,880 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 

1.โครงการปรับปรุงต่างระดับเขาไม้แก้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา วงเงิน 600 ล้านบาท

2.ก่อสร้างทางต่างระดับแกลง จังหวัดระยอง วงเงิน 350 ล้านบาท

3.ก่อสร้างสายทางบางบุตร–ชุมแสง จังหวัดระยอง ระยะทาง 30.416 กิโลเมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาท

4.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคม (ทางแนวใหม่ 4 ช่องจราจร) จังหวัดชลบุรี ระยะทาว 43.62 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 5,600 ล้านบาท

5.ทางเลี่ยงเมืองมาบตาพุด (ทางแนวใหม่ 8 ช่องจราจร) จังหวัดระยอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท 

6.ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา แนวใหม่ (ทางแนวใหม่ 6 ช่องจราจร) จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะทาง 50.63 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 13,500 ล้านบาท

7.ก่อสร้างสะพานต่างระดับถนนสุขุมวิทแยกเมืองใหม่ หรือสะพานหลับรถหน้ากสิกรไทย จังหวัดชลบุรี วงเงินก่อสร้าง 240 บ้านบาท

8.ก่อสร้างสะพานหลับนรถถนนสุขุมวิท บริเวณคลองบางละมุง จังหวัดชลบุรี ใช้วงเงินก่อสร้าง 240 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมทางหลวงคาดหวังว่าเมื่อพัฒนาโครงสร้างทางถนนในอีอีซีแล้ว จะเป็นประโยชน์จากหลักการ Road User Cost ในด้านการประหยัดเวลาการเดินทางของคนและสินค้า (Time saving for passenger and freight) หรือการลดความสูญเสียจากความล่าช้าในการเดินทาง 

ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินว่า เมื่อโครงการทุกโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางถนนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยบนโครงข่ายทางหลวงอีอีซี (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง) จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการพัฒนาทางหลวง สามารถทำความเร็วอยู่ที่เฉลี่ย 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะเดียวกัน กรณีไม่มีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอีอีซี ประเมินว่า ก่อให้เกิดความสูญเสียจากความล่าช้าในการเดินทาง 10.75 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี

สำหรับโครงข่ายทางหลวงพื้นที่อีอีซี ที่อยู่ในแผนดำเนินการของกรมทางหลวงทั้งหมด ประกอบไปด้วย

1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 โครงการ ระยะทาง 149 กิโลเมตร 

2.โครงการประเภทมาตรฐานชั้นทางพิเศษ (4 ช่องจราจร) จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 196 กิโลเมตร

3.โครงการบูรณะปรับปรุง (4 ช่องจราจร) จำนวน 1 โครงการ ระยะทาง 40 กิโลเมตร 

4.โครงการประเภทมาตรฐานชั้นทางพิเศษ (6 ช่องจราจร) จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 118 กิโลเมตร 

5.โครงการประเภทมาตรฐานชั้นทางพิเศษ (8 ช่องจราจร) จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 139 กิโลเมตร 

6.โครงการสะพานข้ามแยก สะพานกลับรถและสะพานข้ามทางรถไฟ รวมจำนวน 5 โครงการ

รวมทั้งกรมทางหลวงยังมีโครงการลงทุนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อเพิ่มศักยภาพการเดินทางเชื่อมต่อในอีอีซี 6 โครงการ ประกอบไปด้วย มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายพัทยา–มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 20,200 ล้านบาท สถานะโครงการปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ

รวมไปถึงมอเตอร์เวย์ M61 สายชลบุรี–นครราชสีมา (แหลมฉบัง–ปราจีนบุรี ทล.359) ระยะทาง 117 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 28,000 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ M61 สายชลบุรี–นครราชสีมา (ปราจีนบุรี ทล.359–นครราชสีมา) ระยะทาง 171 กม. วงเงิน 37,000 ล้านบาท 

โครงการมอเตอร์เวย์ M72 สายชลบุรี–ตราด (ชลบุรี–แกลง) ระยะทาง 94 กิโลเมตร วงเงิน 22,000 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ M72 สายชลบุรี–ตราด (แกลง–ตราด) ระยะทาง 116 กิโลเมตร วงเงิน 27,400 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์สายทางต่างระกับบ้านเก่า ระยะทาง 116 กิโลเมตร วงเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา