'บีบีเอส' คว้าอู่ตะเภา 3 แสนล้าน 'ทัพเรือ'เรียกเจรจาก่อนเซ็น

'บีบีเอส' คว้าอู่ตะเภา 3 แสนล้าน 'ทัพเรือ'เรียกเจรจาก่อนเซ็น

“บีบีเอส” ลอยลำประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา หลัง “ซีพี” ยื่นผลตอบแทนรัฐเพียง 1.1 แสนล้าน เร่งประกาศผลผู้ผ่านซอง 3 สัปดาห์หน้า ก่อนเริ่มเจรจากับผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุด

คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้เปิดซอง 3 (ข้อเสนอทางการเงิน) ของกิจการร่วมค้าบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) วานนี้ (17 ม.ค.) ที่ Navy Club วังนันทอุทยาน กองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บเอกสารทั้งหมดตั้งแต่ยื่นประมูลวันที่ 23 มี.ค.2562

ในขณะที่การเปิดซอง 3 (ข้อเสนอทางการเงิน) ของกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่ม Grand Consortium ได้ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.2562

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระบุว่า การเปิดซอง 3 (ข้อเสนอทางการเงิน) ของกลุ่มซีพี เสนอผลตอบแทนรัฐตลอดอายุโครงการ 50 ปี วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท ในขณะที่ข้อเสนอของกลุ่มบีบีเอสอยู่ที่ 3.05 แสนล้านบาท และข้อเสนอของกลุ่ม Grand Consortium อยู่ที่ประมาณ 1.0 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะประกาศผู้ชนะการคัดเลือกร่วมลงทุนในภายในสัปดาห์หน้า โดยไม่ได้ประกาศผู้ชนะทันทีเพราะต้องรอผลข้อเสนอทางการเงินที่กลุ่มซีพีเสนอมา ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อเสนอทางเทคนิคว่าสอดคล้องกันหรือไม่ โดยเมื่อเปรียบเทียบข้อเสนอผลตอบแทนรัฐพบว่า ข้อเสนอของกลุ่มบีบีเอสสูงที่สุด ซึ่งถึงแม้กลุ่มซีพีจะผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางการเงิน แต่เป็นผู้ให้ผลตอบแทนรัฐที่ต่ำกว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเกือบ 2 แสนล้านบาท

“ข้อเสนอทางการเงินของกลุ่มบีบีเอสผ่านการวิเคราะห์ร่วมกับข้อเสนอทางเทคนิคไปก่อนหน้านี้แล้ว” แหล่งข่าว กล่าว

ประกาศผู้ผ่านซอง 3 สัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ เบื้องต้นอาจจะประกาศผู้เสนอผลตอบแทนทางการเงินสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การเจรจากับผู้ให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุด ซึ่งการเจรจาจะดูข้อเสนอทางเทคนิคประกอบกับข้อเสนอทางการเงินถึงความเป็นไปได้ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสต้องมาชี้แจงรายละเอียดดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในการพิจารณาซอง 2 (ข้อเสนอเทคนิคและแผนธุรกิจ) ได้มีการเจรจากับผู้ยื่นซองทั้ง 3 รายแล้ว ซึ่งพบว่าข้อเสนอทางธุรกิจของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสมีความเป็นไปได้ แต่หลังจากนี้ต้องการประเมินร่วมกับข้อเสนอทางการเงินก่อน

นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเจรจาแล้วเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยถ้ากิจการร่วมค้าบีบีเอสผ่านการพิจารณาซอง 3 (ข้อเสนอทางการเงิน) แต่ผ่านการเจรจาก็จะเริ่มเจรจากับผู้เสนอผลตอบแทนรัฐอันดับ 2 คือ กลุ่มซีพี ซึ่งได้กลับเข้าร่วมประมูลหลังจากศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิให้

157926700167

157927023813

ลงนามเลยได้ไม่ต้องรอศาล

พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ ในฐานะเลขานุการและคณะกรรมการคัดเลือกฯ ระบุว่า ขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอของเอกชน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณารายละเอียดในซอง 3 โดยตามขั้นตอนจะไม่มีการประกาศผลซอง 3 หรือประกาศราคาที่เอกชนยื่นข้อเสนอให้ทราบ เพราะตามข้อกำหนดจะมีเพียงการประกาศผลการคัดเลือกเท่านั้น

ส่วนขั้นตอนลงนามสัญญาจะเกิดขึ้นภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือก โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครอง ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากว่าเป็นคนละกระบวนการกันและสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้

สำหรับการประกาศผลการคัดเลือกคาดว่าจะประกาศได้ในเดือน มี.ค.นี้

นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยืนยันว่า ผลการเปิดซอง 3 (ข้อเสนอทางการเงิน) จะประกาศได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

“ซีพี-บีบีเอส”มาเปิดซองครบ

สำหรับผู้แทนกลุ่มซีพี ที่เข้ามาร่วมเปิดซอง 3 คือ นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยภายหลังเปิดซองข้อเสนอ ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าผลการเปิดซองราคาเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ นายอติรุฒน์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พร้อมระบุว่า ขณะนี้ไม่สามารถตอบได้เพราะคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ กำชับเรื่องการตอบคำถามที่อาจขัดข้อกำหนด RFP

ส่วนกลุ่มบีบีเอส มีนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนร่วมเปิดซอง 3 ของกลุ่มซีพี พร้อมระบุภายหลังเปิดซองว่า วันนี้มาเป็นเพียงพยานในการเปิดซองเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือนัดหารือในครั้งต่อไป

157926704497

“บีบีเอส”ผนึกพันธมิตร

กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่ยื่นผลตอบแทนรัฐสูงที่สุด ประกอบด้วย 1.บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ถือหุ้น 45% โดยเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน และผู้พัฒนาสนามบินในไทยอยู่แล้ว โดยปัจจุบันบริษัทการบินกรุงเทพ เป็นผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีจำนวนฝูงบินรวม 38 ลำ 25 เส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้บริหารสนามบิน3 แห่งคือสุโขทัย ตราดและสมุยจึงเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่มีความถนัดในการทำธุรกิจด้านการบินอยู่แล้ว

2.บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35% โดยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นผู้รับสัมปทานบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2542 ขณะเดียวกันยังมีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัทยู ซิตี้จำกัด (มหาชน)

3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20% โดยเป็นพันธมิตรที่มีประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับงานโครงสร้างพื้นฐานมากนาน เป็นบริษัทรับเหมารายใหญ่ของประเทศ ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตั้งแต่โครงการขนาดกลางไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ งานโยธาและงานเครื่องกล ทั้งงานก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคงานด้านอาคาร งานด้านพลังงาน งานด้านอุตสาหกรรม และงานด้านสิ่งแวดล้อม

โดยกลุ่มนี้มีพันธมิตรที่จะบริหารสนาม คือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินอันดับใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก