ราคาหุ้น 'ค้าปลีก' ยังอืด หวั่นดีลซื้อ 'โลตัส'-'ซีอาร์ซี' เข้าตลาดกระทบหุ้นทั้งกลุ่ม

ราคาหุ้น 'ค้าปลีก' ยังอืด หวั่นดีลซื้อ 'โลตัส'-'ซีอาร์ซี' เข้าตลาดกระทบหุ้นทั้งกลุ่ม

สมรภูมิค้าปลีกไทยปี 2563 ยังคงร้อนระอุ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง กำลังซื้อที่หดตัว พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ทำให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ด้วยการงัดกลยุทธ์ไม้เด็ดออกมาใช้อย่างเต็มที่ หวังประคับประคองผลประกอบการไม่ให้นักลงทุนผิดหวัง

ความท้าทายแรก คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา กระทบตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sales Growth) ของหลายบริษัทยังหดตัว เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัดระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แม้ภาครัฐจะพยายามอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ใช้มาแล้ว 3 เฟส แต่เงินไม่ได้ลงมาที่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเดียว กระจายไปยังภาคส่วนอื่นๆ ทั้งการท่องเที่ยว บริการ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ฯลฯ

ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปี จนรัฐบาลประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” ระดมกำลังทุกหน่วยงานให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน หลังหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ไม่มีน้ำเพียงพอไว้เพาะปลูก เพราะต้องเก็บไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคก่อน ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย เกษตรกรขาดรายได้

ทั้งนี้ หากใครเกาะติดหุ้นค้าปลีกจะเห็นว่าราคาหุ้นปรับตัวลงมากกว่าตลาดในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นถ่วงอยู่ ทั้งการประมูลซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในประเทศไทยและมาเลเซีย หลังบริษัทแม่เทสโก้ประเทศอังกฤษมีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยมีการประเมินว่าการขายกิจการในครั้งนี้จะมีมูลค่าสูงเกือบ 9 พันล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 3 แสนล้านบาท กลายเป็นอีกหนึ่งซุปเปอร์ดีลที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีกบ้านเรา

ด้วยมูลค่ากิจการที่สูงขนาดนี้ แน่นอนว่าต้องเป็นระดับเจ้าสัวเท่านั้นที่จะซื้อได้ โดยมีข่าวว่า 3 ตระกูลมหาเศรษฐีชั้นนำของเมืองไทยให้ความสนใจ ทั้งกลุ่มซีพี ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ซึ่งปลุกปั้น “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” มากับมือ ก่อนขายกิจการให้กลุ่มเทสโก้ เมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเซ็นทรัล ของ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” ซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าถิ่น และเป็นที่ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกเมืองไทย แต่ขณะนี้ทั้ง 2 ตระกูล ยังสงวนท่าทียังไม่เปิดเผยว่าจะเข้าประมูลหรือไม่

ส่วนรายที่เปิดเกมนำหน้าคนอื่นไปก่อน คือ เจ้าพ่อเทคโอเวอร์ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ประกาศชัดขอส่ง “บิ๊กซี” ห้างค้าปลีกของกลุ่มไทยเจริญ (ทีซีซี) เข้าซื้อ “เทสโก้ โลตัส” หลังยื่นแสดงเจตจำนงต่อบริษัทแม่ไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะได้ “เทสโก้ โลตัส” ไป สิ่งที่นักลงทุนกังวลมากที่สุด คือ ผลกระทบต่อฐานะการเงิน เนื่องจากมูลค่ากิจการสูงเฉียด 3 แสนล้านบาท ต้องอาศัยเงินกู้จำนวนไม่น้อย รวมทั้ง อาจจะต้องมีการเพิ่มทุน กดดันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

นอกจากนี้ การเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นของ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ที่รวมธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้งในไทย เวียดนาม และอิตาลี ระดมทุนเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 1,860 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 40-43 บาทต่อหุ้น ถือเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในตลาดหุ้นไทย และคาดกันว่าหลังเข้าเทรด หุ้น CRC จะได้ฟาสแทร็กเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ทันที เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 15 อันดับแรก และช่วยเพิ่มมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยขึ้นอีก 1%

แน่นอนว่าการกระโดดลงสนามครั้งนี้ของ CRC จะเรียกความสนใจจากนักลงทุนได้ไม่น้อย โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันซึ่งคงต้องปรับพอร์ตหุ้นค้าปลีกกันใหม่ เพื่อเตรียมเงินไว้ช้อปหุ้น CRC แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่ใช่ว่าจะมีแต่ปัจจัยลบอย่างเดียว เพราะเร็วๆ นี้ คาดว่ารัฐบาลจะต่ออายุมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ออกไปเป็นเฟสที่ 4 และหากเป็นจริงตามข่าวที่ออกมาว่าจะให้ผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดเข้าร่วมโครงการในส่วนกระเป๋าที่ 2 ซึ่งจะจ่ายเงินคืน (Cash Back) ให้กับคนที่ลงทะเบียน โดยไม่จำกัดสาขา จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้รายละไม่เกิน 20 สาขา ถือเป็นปัจจัยบวกช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มค้าปลีก

อย่างไรก็ตาม มื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่มค้าปลีกยังไปไหนไม่ได้ไกล เนื่องจากมีปัจจัยถ่วงอยู่เยอะ ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นค้าปลีกเท่ากับตลาดเท่านั้น