เทสล่ากับ 'Shanghai Speed'

ทำไมจีนถึงยอมให้โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเทสล่าเข้ามาตั้งในเซี่ยงไฮ้ แล้วจีนได้ประโยชน์จากโครงการนี้หรือไม่ อย่างไร

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมจีน โรงงานรถยนต์เทสล่าในมหานครเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตและส่งมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รุ่น Model 3 ให้กับลูกค้าชาวจีน โดยอีลอน มัสก์ ได้เดินทางไปส่งมอบรถด้วยตัวเอง

อีลอน มัสก์ บอกว่าประทับใจมากๆ กับ "Shanghai speed" หรือความเร็วในการผลิตของเซี่ยงไฮ้เพราะประสิทธิภาพ และความเร็วนี้นี่แหละที่ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้เทสล่า

เพียง 6 เดือนที่แล้ว ถ้าใครยังจำได้ บริษัทเทสล่าที่สหรัฐ ประสบปัญหาอย่างมากในด้านการผลิตรถยนต์ เพราะโรงงานที่สหรัฐไม่สามารถผลิตรองรับดีมานด์ตลาด และไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่รับออร์เดอร์ไปแล้วได้ จนตอนนั้นมีข่าวทำนองว่าเทสล่าประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ไม่รู้ว่าจะล้มหรือไม่

กลยุทธ์ของอีลอน มัสก์ นอกจากจะมุ่งแก้ปัญหาการผลิตของโรงงานเทสล่าในสหรัฐแล้ว เขายังเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการเดินหน้าบุกตลาดและสร้างอภิมหาโรงงานที่จีน ซึ่งนับเป็นฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศสหรัฐของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบรนด์ดังเจ้านี้

สิ่งที่ไม่น่าเชื่อ ก็คือตั้งแต่ประกาศลงทุนสร้างโรงงานในจีนจนเปิดโรงงานเดินสายพานการผลิตได้สำเร็จใช้เวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น นี่แหละครับที่เรียกว่าเป็น "Shanghai speed" (เปรียบเทียบกับโรงงานของเทสล่าในสหรัฐ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างถึง 2 ปี)

10 เดือนที่แล้วที่ตั้งของโรงงานยังเป็นทุ่งนาชานเมืองอยู่เลยครับ โดยเป็นพื้นที่ว่างเปล่าขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากตัวมหานครเซี่ยงไฮ้ประมาณ 90 นาที ในปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตรถยนต์ได้ชั่วโมงละ 28 คัน เท่ากับผลิตได้คันใหม่ทุกๆ 2 นาที และตั้งเป้าว่าในปี 2020 ทั้งปีจะต้องผลิตให้ได้ 150,000 คัน และเมื่ออภิมหาโรงงานสร้างเสร็จสมบูรณ์ใน 1 ปี จะต้องยกระดับการผลิตให้ได้ถึง 500,000 คัน (ลองเปรียบเทียบกับโรงงานใหญ่ 2 แห่งในสหรัฐ ในปี 2019 ผลิตได้รวมกัน 360,000 คัน)

"Shanghai speed" นี่มาจากอะไรครับ บางคนบอกว่ามาจากการทำงานหนักของแรงงานจีน บางคนบอกว่ามาจากเทคนิคการผลิตของเทสล่า แต่ที่สำคัญกว่านั้น ประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงานเทสล่าในจีนยังสะท้อนความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมจีนใน 3 เรื่องด้วยกัน

  1. ความพร้อมเรื่องห่วงโซ่การผลิตภายในจีน ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ ลำตัวเครื่อง วงจรควบคุมบริษัทใหญ่ 10 อันดับแรกในอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นบริษัทของจีนมากกว่าครึ่งครับ แถมบริษัทเหล่านี้ส่วนมากยังมีโรงงานการผลิตชิ้นส่วนอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงที่ใกล้กับเซี่ยงไฮ้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงสามารถจัดหาชิ้นส่วนในการผลิตได้ครบถ้วนอย่างรวดเร็ว

  2. แรงงานทักษะในจีนจำนวนมหาศาลเพียงแค่บริษัทเทสล่าประกาศรับสมัครแรงงาน และวิศวกรก็สามารถหาแรงงานจำนวนมากที่มีคุณภาพได้ไม่ยาก ด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าค่าแรงในสหรัฐ

  3. การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของรัฐบาลจีนและรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ว่ากันว่ามีการลดทอนขั้นตอนการขออนุญาตและการก่อสร้าง โดยรัฐบาลลงมาอำนวยความสะดวกเต็มที่นิตยสารฟอร์จูน รายงานว่ารัฐบาลจีนยังยกเว้นภาษีการขาย 10% และยังช่วยอุดหนุนเงิน 24,750 หยวนต่อคัน เพื่อช่วยกดให้ราคาการขายถูกลง

งงไหมครับว่าจะเอาใจเทสล่าขนาดนี้ไปเพื่ออะไร และรัฐบาลจีนได้ต่อรองอะไรบ้าง เท่าที่ประมวลข้อมูลดู สิ่งที่เทสล่ารับปากมีดังนี้ครับ

สำหรับช่วงแรกนี้รถยนต์เทสล่าที่ผลิตในจีนยังคงใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนเพียง 30% เท่านั้น แต่เทสล่ารับปากว่าภายในกลางปีนี้จะใช้ชิ้นส่วนจากจีนเพิ่มเป็น 70% และภายในสิ้นปีจะใช้ชิ้นส่วนจากจีน 100%

เทสล่ายังรับปากว่าจะมีการสร้างศูนย์ R&D ขนาดใหญ่ในประเทศจีนที่จะสามารถออกแบบรถยนต์ในประเทศจีนได้เลย ไม่ต้องใช้แม่แบบการออกแบบจากศูนย์วิจัยในสหรัฐฯ นอกจากนั้น ทีมผู้บริหารและผู้จัดการโรงงานยังเป็นคนจีนอีกด้วย

รัฐบาลเซี่ยงไฮ้แถลงว่า เงินลงทุนของเทสล่าถือเป็นจำนวนเม็ดเงินลงทุนในด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่มีปริมาณสูงที่สุดในประวัติศาสตร์จีน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นที่รัฐบาลจีนมองก็คือ ไม่เพียงแต่โรงงานของเทสล่าจะใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในปัจจุบันของจีน แต่จะยังจะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับห่วงโซ่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีนอีกด้วย

มีนักวิเคราะห์อธิบายว่ารถยนต์เทสล่าเปรียบเสมือน iPhone ในยุคก่อนตอนที่ iPhone มาใช้ฐานการผลิตที่จีนส่งผลให้เกิดห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนในประเทศจีนตามมา ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอแบตเตอรี่ ชิปประมวลผลจนต่อมายังทำให้เกิดบริษัทสมาร์ทโฟนสัญชาติจีน ไม่ว่าจะเป็นหัวเว่ย เสี่ยวมี่ vivo oppo ซึ่งใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนในจีนที่ครบถ้วน

เช่นเดียวกันการเข้ามาของเทสล่าและการรับปากว่าจะใช้ชิ้นส่วนจากจีน 100% ย่อมจะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในจีน สุดท้ายย่อมจะขับเคลื่อนให้บริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีนเองพัฒนาขึ้น และใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

การผลิตรถยนต์รุ่น Model 3 ของเทสล่าในเซี่ยงไฮ้มีต้นทุนถูกลง 65% เมื่อเปรียบเทียบกับที่ผลิตในสหรัฐฯ ในอดีตราคาของรถเทสล่า Model 3 ในจีนซึ่งนำเข้าจากสหรัฐอยู่ที่ 400,000 หยวนปัจจุบันราคารถที่ผลิตในจีนขายอยู่ที่ 300,000 หยวนซึ่งใกล้เคียงกับราคารถเบนซ์ Audi BMW ในจีน ปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีนคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งโลก

ตอนนี้ คำว่า "Shanghai speed" จึงไม่ใช่เพียงแค่ความเร็วในการสร้างโรงงานและประสิทธิภาพในการผลิต แต่ยังหมายถึง ความเร็วที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในประเทศจีน ซึ่งจะตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากPM 2.5 ของรัฐบาลจีนด้วย

สหภาพยุโรปตั้งเป้าว่า จะเปลี่ยนรถยนต์ทั้งหมดในยุโรปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปี 2040 เชื่อผมไหมครับว่า "Shanghai speed" จะเร็วกว่านั้นเยอะ โลกอนาคตในจีนมักมาถึงเร็วกว่าที่คาด และหลายคนทำนายอวสานของรถยนต์น้ำมันในจีนว่าจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปี!!